19 พฤศจิกายน 2551

๖ สมาชิกยุคบุกเบิก (๓)



เทียรี่..จากดาราหน้าลูกครึ่ง
มาแต่งตัวมอซอกับวงเขาควาย




ช่วงเป็นวัยรุ่นเข้าวงการบันเทิง เด็กหนุ่มลูกครึ่งคนนี้ ถูกปั้นให้เป็นนักแสดงและเป็นนักร้องแนวพ็อบในสังกัดเทปมาก่อน แต่โชคชะตาก็จับพลัดจับผลูให้เขาอยู่กับดนตรี และได้พบกับ 'ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี' กับ 'อำนาจ ลูกจันทร์' นักดนตรีรับจ้างตามห้องบันทึกเสียง เลยชวนไปเป็นมือปืนรับจ้างเล่นดนตรีด้วยกันที่ห้องอัดอโซน่า ..ขณะเดียวกัน หากมีโอกาสก็ออกเทปไปด้วยในแนวพ๊อพ ภายใต้สังกัดอโซน่า เช่นอัลบั้ม
“ล่องเรือรัก”

..กระทั่งได้เป็นมือกีตาร์ของคาราบาวในที่สุด

“ก่อนหน้าเข้าคาราบาวตอนนั้นผมยังเด็กเกินไป ยังไม่ได้คิดเรื่องอะไรพวกนี้หรอก ผมภูมิใจครับกับเวลาตอนนั้น ถ้าชีวิตตอนนั้นไม่ได้อยู่กับคาราบาว ผมก็อาจจะไม่เป็นอย่างนี้ ป่านนี้จะเป็นยังไงก็ไม่รู้ มันก็เหมือนชะตานะ พอเรามาเจออย่างนี้ มันก็เหมือนเราได้หันออกมาจากเมื่อก่อน
สิ่งที่ได้จากคาราบาวมันติดอยู่ในตัวผม..”
เทียรี่บอกอย่างภาคภูมิใจ

ชีวิตในความเป็น คาราบาว ในหลายๆ ปีที่ผ่านมานั้น มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม หากเราได้มองกลับไปหามัน

“ใช่แน่นอน เพราะว่าเราได้ทำอะไรเยอะจากตรงนั้น
เช่น วิธีการทำงาน ความรู้สึก แล้วก็อุดมคติ
อุดมการณ์หลายๆ อย่าง..”


ก่อนหน้าที่จะเข้าเป็นนักดนตรีในห้องอัดอโซน่านั้น เคยร่วมเล่นดนตรีตามโรงแรมกับ ‘เล็ก’ มือกีตาร์อีกคนของคาราบาวมาก่อน สมัยที่เล็กกำลังจะทำวงคาราบาวกับแอ๊ดนั้น ก็ยังเคยชวนเทียรี่มาร่วมด้วย แต่เหตุจำเป็นบางอย่าง ทำให้เทียรี่ไม่สามารถเข้าร่วมด้วย ...เขาเองก็เสียดายโอกาสนั้นไม่น้อย กระทั่งคาราบาวออกอัลบั้มไปแล้ว ๒ ชุด ก็มาเข้าสังกัดอโซน่า ซึ่งระหว่างนั้น เทียรี่ก็เป็นนักดนตรีในห้องอัดเสียงของอโซน่าพอดี ทำให้พบกับคาราบาวอีกครั้ง

เหตุการณ์ประจวบเหมาะ เมื่อเล็กต้องเดินสายทัวร์อเมริกากับ เดอะ เพรสซิเดนท์ เทียรี่จึงมีโอกาสเข้าไปเล่นกีตาร์แทนเล็กในช่วงเดินสายทัวร์อัลบั้ม “วณิพก” ซึ่งช่วงเวลาการทำงานอัลบัมนี้ในห้องอัดเสียง เทียรี่ได้ช่วยร้องประสานเสียงในบางเพลงด้วย แต่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกถาวร

เทียรี่เคยให้สัมภาษณ์แบบติดตลกเสมอว่า พอได้เข้าคาราบาวแล้วก็ไม่ยอมออกอีกเลย ซึ่งต่อมาเขาก็เป็นสมาชิกคาราบาวเต็มตัว ในอัลบั้ม “เมดอินไทยแลนด์” เรื่อยมาจนถึงอัลบั้ม “ทับหลัง” จึงแยกตัวออกไปทำงานเดี่ยวบ้าง

“ผมได้มาเรียนรู้ ได้มาศึกษาจากทุกๆ คนในคาราบาว อาจจะเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดในการมองโลก มองสังคมของตัวผมก็ได้ ..ได้ตรงนี้มาอย่างชัดเจนมาก แล้วได้หลายอย่างด้วย ทั้งวิธีการทำงานของคาราบาวและอื่นๆ”


เทียรี่เพิ่งจะเริ่มเขียนเนื้อเพลงเอง ก่อนหน้าที่จะออกจากคาราบาวสัก ๒-๓ ปีเท่านั้น “ผมก็ไม่ได้เก่งเลย ผมต้องใช้ความพยายามอย่างสูงมาก บอกตรงๆ นะ ว่าผมไม่เก่ง มันเยอะมากที่เขียนแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ได้” เขาบอกด้วยว่า ได้วิธีการทำงานด้านการเขียนเนื้อมาจากแอ๊ดมากมาย

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาเขียนเพลงได้มาจากหลายทาง “ได้จากการเดินทาง การพูดคุย แล้วก็การอ่านหนังสือ..คือผมเป็นคนชอบอ่าน อันนี้เป็นนิสัยที่ดีผมได้มาจากแอ๊ดนั่นแหละ แอ๊ดเขาเป็นคนชอบอ่าน..” แต่การอ่านอย่างเดียวก็ไม่พอ เทียรี่บอกว่า ต้องช่างสังเกตด้วย

งานชุดแรกของเที่ยรี่ที่ไม่ใช่คาราบาว จะเรียกว่างานเดี่ยวก็ไม่เชิง เพราะเป็นการร่วมงานกับอาจารย์ธนิสร์และน้าเป้า ในอัลบั้ม “ขอเดี่ยวด้วยคนนะ” ..ซึ่งทั้งสองคนนี้อาจจะพูดได้ว่า มีส่วนชักนำเทียรี่ให้มาพบกับคาราบาว ก็ได้ ในงานชุดดังกล่าว เทียรี่รับหน้าที่หลักด้านการเขียนเนื้อ หลังจากงานเผยแพร่ออกไปแล้ว ก็มีผลสะท้อนกลับมาว่า- ยังมีความเป็นคาราบาวอยู่สูงทีเดียว เที่ยรี่แบ่งรับแบ่งสู้และเปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์เต็มที่



“ไม่รู้สินะ ก็ว่ากันไป แต่มันเป็นอย่างที่ผมบอก
ผมอยู่กับ คาราบาว มานาน ..มันติดมาเอง ไม่รู้เหมือนกันนะ”


และที่เป็นจุดเด่นของเทียรี่ ก็คือ งานเดี่ยวของเขาหรือเพลงที่เขาร้องเมื่อครั้งอยู่กับ คาราบาว มักจะนำเสนอเกี่ยวกับ เรื่อง ‘ผู้หญิง’ เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ “นางงามตู้กระจก” เรื่อยมา “คอนเซ็ปต์นี้ จะเป็นของแอ๊ดเขาเป็นส่วนใหญ่..” เขาบอกต้นสายปลายเหตุ “เรื่องการเขียนเนื้อ การวางแนวต่างๆ นี่ แอ๊ดจะทำ ซึ่งเขาก็ทำได้ดี”

‘อิมเมจ’ มันจึงติดมาถึงตัวเที่ยรี่โดยตลอด แม้จะออกมาทำงานเดี่ยวแล้วก็ตาม..

“มีความรู้สึกว่าชอบเพลงเกี่ยวกับผู้หญิง เวลาเขียนขึ้นมานั้น ไม่ใช่เพื่อที่จะขายนะ แต่เขียนเพราะเรามีความเห็นอย่างนั้นจริงๆ” เขาย้ำจากส่วนลึก

นิตยสาร “สีสัน” เคยตั้งข้อสังเกตว่างานทุกชิ้นของ เทียรี่ จะมี ‘พ็อพเซ้นส์’ ติดอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่าใช่ เพราะเป็นความตั้งใจของเขา

“ถ้าเราทำดนตรียากเสียแล้ว มันก็คล้ายเป็นกำแพง คนก็จะหนีซึ่งมันไม่มีประโยชน์ หรือว่ามีก็น้อย..”








นางงามตู้กระจก - คาราบาว - เทียรี่ เมฆวัฒนา




อำนาจ ลูกจันทร์
‘เรียนดนตรีมาตั้งแต่ ๑๔
..แล้วจะให้ผมไปทำอะไร’


น้าเป้า..ถ้าไม่เล่นดนตรีจะทำอะไร!?
"ผมเรียนดนตรีมาตั้งแต่อายุ ๑๔ จะให้ผมทำอะไร !?"
น้าเป้าหรืออำนาจ ลูกจันทร์มือกลองคาราบาว ตอบคำถามอย่างฉาดฉานแกมยียวน


"น้าเป้า" อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคาราบาว มาตั้งแต่อัลบั้ม ท.ทหารอดทน เป็นสมาชิกอีกคนของคาราบาวที่ตกเป็นข่าวน้อยที่สุด และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนน้อยที่สุด แต่ด้วยความที่มีอายุมากที่สุดในวง จึงถูกเพื่อนๆ น้องๆ ในวงขนานนามว่า "น้า"


'อำนาจ' เป็นคนกรุงเทพ เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๙๒ ที่เขตประเวศ เรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนพระโขนง จากนั้นก็สอบเข้าดุริยางค์ทหารเรือ เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเสียเรียนต่อ เขาบอกว่าการเข้ามาเรียนในดุริยางค์ทหารเรือนี้ช่วยผ่อนเบาฐานะทางการเงินได้ดีมาก




"ผมเข้ามาเรียนไม่ถึงปีมีความรู้สึกว่า ถ้าใครส่งลูกมาเรียนที่นี่แล้วไม่ต้องเสียเงินเลย ไม่ต้องใช้เงิน เสื้อผ้าก็มีให้ใส่ อาหารก็มีให้กิน ที่นอนก็มี ที่พักก็มี จบมาทำงานได้เลย ความรู้ก็ได้หลายอย่างทั้งทางดนตรี วิชาทหารและวิชาสามัญ ก่อนหน้านี้เจตนาของผมก็ไม่คิดจะเรียนตรงนี้หรอก อยากจะเรียนให้เหมือนๆ คนทั่วไปเหมือนกัน แต่พ่อแม่ผมจน"


'อำนาจ' เข้าเรียนดุริยางค์โดยเลือกเรียนเครื่องเป่า ทฤษฎีดนตรี และวิชาทหารควบคู่กันไปรวมทั้งหมด ๕ ปี จากนั้นก็รับราชการเป็นอาจารย์สอนดนตรีประเภทเครื่องกระทบอีก ๘ ปี ถ้ารวมอายุราชการด้วยก็รวมใช้ชีวิตภายใต้ยูนิฟอร์มของทหารเรือถึง ๒๔ ปีเต็ม แล้วลาออกเด็ดขาดพร้อมกับมียศ "จ่าเอก"

'อำนาจ' ผ่านประสบการณ์ด้านดนตรีมาโชกโชน
เขาใช้เวลาว่างจากงานราชการมาเล่นดนตรีตามคลับบาร์เวลากลางคืนหารายได้พิเศษ และเป็นมือปืนรับจ้างในห้องอัดในช่วงบ่าย มีวงจรชีวีตเช่นนี้อยู่ถึง ๑๕ ปีเต็ม ก็ทิ้งชีวิตนักดนตรีกลางคืนประมาณปี ๒๕๒๕ หันมาเล่นดนตรีอาชีพ

"ไม่ได้เบื่อดนตรีหรอกนะ เพราะผมเบื่อบรรยากาศมากกว่า ถึงเวลาก็ต้องมาทำงาน เวลามันฟิกซ์ไปหมด มันมีความรู้สึกว่าเราไปเล่นดนตรีเพื่อให้มันจบไปวันๆ"


หลังยุติชีวิตนักดนตรีกลางคันไว้แค่นั้น
ชีวิตในเวลาต่อมาก็ผ่านเข้า-ออกวงดนตรีต่างๆ อีกหลายสิบวง ขณะเดียวกันก็เป็นนักดนตรีรับจ้างในตำแหน่ง "มือกลอง" ตามห้องอัดต่างๆ

"ผมอัดเสียงมาตั้งแต่สมัยรวงทอง ทองลั่นทม, ศรีไศล สุชาติวุฒิ, จินตนา สุขสถิตย์, สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธ์, เพลิน พรหมแดน-ในยุคเพลงพูดก็เคยอัด ยุคนั้นอัดกัน ๒ แทรค อย่างของ-ดอน สอนระเบียบ สมัยที่เป็นพี.เอ็ม.ไฟว์.ผมก็เป็นคนตีกลองทั้งหมด พวกเพลง 'เก้าล้านหยดน้ำตา'..อะไรพวกนี้ ก็มี 'พี่ปราจีน ทรงเผ่า'..เป็นคนทำดนตรีให้"


เขาย้อนความหลังว่า..สมัยก่อนรายได้ค่อนข้างดีพอสมควร เนื่องจากมือกลองยุคนั้นมีน้อยประมาณ ๓ คน "มีผม.. 'พี่มังกร' แล้วก็ 'แดง โลลิต้า' ..ทั้งเพลงลูกทุ่งหมอลำนี้เล่นหมดเลย พวกเราไม่มีประจำห้องอัดที่ไหน แล้วแต่เค้าจะเรียกตัวไป บางวันต้องตระเวนกันถึง ๓ ห้อง เมื่อก่อนผมทำงานเช้า ..บ่ายก็อัดเสียงถึงค่ำก็ไปเล่นบาร์ เล่นบาร์เสร็จก็ไปอัดเสียงต่อ"

อะไรทำให้น้าเป้าสนใจตีกลอง?
ตอบแบบไม่ต้องคิดว่า...

"ช่วงที่ผมเรียนดนตรีประมาณปี ๒๕๐๗ สมัยก่อนกีตาร์มันยังไม่เกิด ในเมืองไทยยังไม่มีใครเล่นกีตาร์ กีตาร์นี่จะมีใช้เฉพาะในวงบิ๊กแบนด์ของทางราชการเท่านั้น ภายนอกไม่มีใช้หรอก ไอ้ครั้นเราอยากเล่นกีต้าร์ก็ไม่ได้ จึงเลือกตีกลองดีกว่า..ก็เลยเป็นมาแต่ต้น"


ชีวิตนักดนตรีของ "อำนาจ ลูกจันทร์" มาสิ้นสุดที่ห้องอัดเสียง 'อโซน่า โปรโมชั่น'

ทำงานให้นักดนตรีในสังกัดสมัยนั้นหลายคน กระทั่งได้พบคาราบาวในที่สุด "ตอนนั้นเขาจะจ้างให้ผมไปอัดเสียงที่ไหนก็ต้องไป อโซน่า-มันคือห้องอัด แต่บังเอิญมันจำหน่ายเทปด้วย ผมไม่รู้เรื่องบริษัทของเขาหรอก ผมมาอยู่ที่นี่ก่อนแอ๊ดตั้งหลายปี เจอกันเป็นปีกว่าแล้ว..
แอ๊ดจึงชวนเข้าเป็นสมาชิกวง"





'อำนาจ' เข้าร่วมงานกับคาราบาวครั้งแรก
ในฐานะนักดนตรีรับจ้างช่วงออกทัวร์โปรโมตอัลบั้ม "วณิพก" ช่วงเดียวกับ 'เทียรี่-ไพรัช-ธนิสร์' ที่เข้ามาเสริมวง เป็นจังหวะเวลาที่ 'เล็ก-ปรีชา' และ 'อนุพงษ์' ติดภารกิจทัวร์อเมริกากับ 'เดอะเพรสิเดนท์' "ตอนนั้นคาราบาวไม่มีนักดนตรี..เหลือแต่แอ๊ดกับเขียว ๒ คน ผมยังจำได้เลยว่า-เราถ่ายมิวสิควิดีโอชุด 'วณิพก' เสร็จแล้วก็ตีรถไปเล่นดนตรีต่อที่สุรินทร์ ชีวิตเมื่อก่อน มันอดๆ อยากๆ เมื่อก่อนต้องแต่งสูทตีกลองในคลับในบาร์ พอมาอยู่แบบนี้มันก็อิสระดี ไม่ต้องมาถูกกำหนดจากเจ้าของบาร์ เรื่องการแต่งตัว มาที่นี่เหมือนเราได้ปลดปล่อยไปจากสังคมหนึ่ง



ปี ๒๕๓๒ “น้าเป้า” แยกตัวจากคาราบาว
ทำงานร่วมกับ เทียรี่-ธนิสร์ ในอัลบั้ม "ขอเดี่ยวด้วยคนนะ" โดยรับหน้าที่ดูแลด้านกลองเครื่องเคาะ-เพอร์คัสชั่น เพียงชุดเดียวก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทาง เทียรี่ กับ อาจารย์ธนิสร์ไปทำอัลบั้มเดี่ยวตามแนวทางความต้องการของตัวเอง ส่วน 'อำนาจ' เดินทางไปช่วยงานดนตรีของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ที่อเมริกา และถือโอกาสทำเวิร์คช็อพไปด้วยในตัว

ทุกขณะจิต.."อำนาจ ลูกจันทร์" ไม่เคยคิดจะทิ้งดนตรี
เมื่อแยกจาก คาราบาว มาแล้ว ..เขายอมรับว่าเคยคิดจะฟอร์มวงขึ้นมาเหมือนกัน "ผมคิดมาตั้งหลายหนแล้วว่า ถ้าคาราบาวไม่รวมกันคราวนี้อีก ผมคิดไว้ว่าจะไม่เล่นเพลงแนวนี้แล้ว ผมจะไปของผมอีกแนวที่เราชอบ"

'ฟิวชั่นแจ๊ซ'เป็นแนวที่ "น้าเป้า" โปรดปราน

"นั่นน่ะแหละ..อยากเล่นเพลงอย่างนี้ พักหลังๆ เจอกับพรรคพวก ก็ชวนๆ กัน เรามารวมกันดีกว่า สมัยนี้มันขายได้สมัยก่อนไม่มีคนฟัง มีแต่นักดนตรีมาฟัง หลังจากแยกจาก คาราบาวก็เล่นเพลงเดิมๆ สมัยที่เล่นกันเมื่อก่อนนี่แหละ เพลงแนวนี้มันหาคนเล่นยาก ไม่มีคนเขาอยากเล่นหรอกมันเหนื่อย"




ไม่มีความคิดเห็น: