10 พฤศจิกายน 2551

แอ๊ด-เขียว-ไข่ ในนาม "คาราบาว"



แอ๊ด เขียว ไข่ ในนาม "คาราบาว" รวมตัวกันอีกครั้ง

เข้าเล่นประจำที่บาร์และห้องอาหารต่างๆ เรื่อยมา ตั้งแต่ “เรด แลมป์” ใต้ถุนโรงภาพยนต์ออสการ์ โรงแรมแมนดาริน โรงแรมวินเซอร์ และคอฟฟี่ช็อพหลายแห่ง หลังสุดเล่นประจำอยู่ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ โดยเล่นเพลงสากลเหมือนเมื่อครั้งอยู่ที่ฟิลิปปินส์

ระหว่างนั้น ยืนยงได้รวบรวมเพลงที่ตัวเองเคยเขียนเก็บไว้เมื่อครั้งอยู่ที่ฟิลิปปินส์ และขอบางเพลงมาจากเพื่อนเข้าห้องบันทึกเสียงทำอัลบั้มแรกกับเขียว และ “สุเทพ ถวัลย์วัฒนกุล” โดยใช้วง “โฮป” ของสุเทพเป็นแบ็คอัพ ในสังกัด “พีค็อกสเตอริโอ”

“ชุดแรกนี้ ผมได้เพื่อนๆ มาช่วยเล่น เพลงพวกนั้นผมก็แต่งขึ้นมาเอง ขอเพื่อนมา ๒-๓ เพลง ช่วงนั้นดนตรีของผมยังไม่พัฒนาในเรื่องของความคิดอ่าน ยังมีการลอกเพลงของฝรั่ง ลอกเพลงฟิลิปปินส์อยู่บ้าง”
ยืนยงสารภาพตามตรง

ชุดแรกก็โดนห้ามเปิดเลย !!

“เพลงแรกเลย..ลุงขี้เมา !!” ยืนยงตอบ
“ตอนนั้นผมยังเงียบนะฮะ บทเพลงยังเงียบๆ อยู่ นักจัดรายการโทร.มาบอกกับผม
..เฮ้ย ! เพลงนี้ออกไม่ได้นะ 'ลุงขี้เมา'
..ทหารเขาห้าม
..ผมก็บอกเขาไปว่า ผมไม่รู้เหมือนกัน แล้วผมจะทำให้มันเบาขึ้น
..ด้วยวันเวลาแล้วก็ปรากฎการณ์ทางสังคม สัจจะในสังคมก็ได้พิสูจน์ให้คนในแผ่นดินนี้ได้เห็นมากขึ้นว่า ความถูกต้องคืออะไร..”

ขณะออกอัลบั้มแรกนั้น “คาราบาว” ยังเล่นประจำอยู่ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ แต่ไม่นานก็ถูกไล่ออก-ถูกไล่ออกวันเดียวกับที่ “เล็ก-ปรีชา ชนะภัย” มือกีตาร์หนุ่มจาก "เดอะ เพรสซิเดนท์" เข้าไปฟังยืนยงและเพื่อนเล่นดนตรี แล้วขอให้ยืนยงร้องเพลง “ลุงขี้เมา” กับ “หนุ่มสุพรรณ” ให้ฟังพร้อมแขกเหรื่อคนอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทางผู้จัดการบาร์ต้องขอร้องให้พวกเขาเลิกเล่นในวินาทีนั้น

เพราะ ‘ยืนยง’ ฝืนกฎของบาร์ที่ระบุไว้ว่า-ห้ามร้องเพลงไทย !!

“เล็กกับผม-เป็นเพื่อนเก่ากันตั้งแต่อุเทนถวาย” แอ๊ดพูดถึงเล็ก


“วันนั้น-ที่โดนไล่ออก...เล็กเขาเข้าไปพอดี หลังเหตุการณ์-เขายังจะไปพังโรงแรมเลย ต้องช่วยกันลากออกมา.. พอออกจากงานแล้วก็มารวมกับเล็ก เขาบอกว่ามาทำกันต่อสำหรับคาราบาว-ตัวเล็กเองก็อยากทำอยู่แล้ว ตอนที่เล็กเข้ามาร่วมกับผม เขามีไอเดียอยู่มากมาย เลยร่วมกันจริงจังมาแต่นั้น”

อัลบั้ม “แป๊ะขายขวด” จึงเป็นก้าวที่สองของคาราบาว



สัมพันธ์ "เดอะ เพรสซิเดนท์"
“วณิพก” ..ดังระเบิด


ตั้งแต่อัลบั้มแรกมาถึงอัลบั้มที่ ๒ คาราบาว อยู่ในสังกัด ‘พีค็อค สเตอริโอ’ และยังไม่มีนักดนตรีเป็นสมาชิกถาวร ยืนยงได้อาศัยไหว้วานให้เพื่อนๆ มาช่วยเล่น ช่วยทำงานในห้องบันทึกเสียง ตั้งแต่วง “โฮป” กระทั่งมาถึงอัลบั้มที่ ๒ ก็ได้ “เดอะ เพรสซิเดนท์” ทั้งวงเข้ามาเป็นแบ็คอัพให้

“ผมขอบอกไว้เลยนะครับ เพรสซิเดนท์เขาเป็นพี่ เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดที่เราเคยคบกันมา ถ้าไม่มีพวกเขา เราอาจจะไม่ได้เดินมาถึงจุดนี้ด้วยซ้ำ เขาช่วยครับ ทุกคนในวงเขาช่วยเรา”

ยืนยงบอกว่า “ผมรู้จัก เดอะ เพรสซิเดนท์ เพราะผมตามเล็กไปดูเขาซ้อมดนตรี เวลาเล็กไปซ้อม ผมก็ไปดู ก็สนิทกับพวกเพรสซิเดนท์ ..พี่อ๊อด พี่แดงหัวหน้าวง ..คือสนิททั้งวงน่ะ ตู้(ดิเรก อมาตยกุล)ก็รู้จัก ..ในที่สุดเวลาคาราบาว เข้าห้องอัดเสียง ก็ได้ เพรสซิเดนท์ช่วยเล่นให้”

จากสองอัลบั้มแรกนั้น..ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ต่อมา ในปี ๒๕๒๖ คาราบาว ก็เริ่มต้นอีกครั้งกับอัลบั้ม “วณิพก”

..โดยยังเป็นการทำงานร่วมกับ “เดอะ เพรสซิเดนท์” เช่นเดิม แล้วย้ายเข้ามาสังกัด “อโซน่า” โดยมีสมาชิกวงเพียงสามคนเท่านั้น คือ แอ๊ด- ยืนยง เขียว-กิรติ และ เล็ก-ปรีชา

เมื่ออัลบั้ม “วณิพก” เผยแพร่ออกไป ฉับพลันนั้น “คาราบาว” ก็ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศทันที นอกจากคาราบาวจะกลายเป็นวงดนตรียอดนิยมแล้ว พวกเขายังทำให้จังหวะสามช่า (ช่ะ ช่ะ ช่ะ) กลายเป็นจังหวะที่เร้าใจคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้



อำลา “อโซน่า”
สู่ยุค ๗ คน คาราบาว


กล่าวสำหรับ “เดอะ เพรสซิเดนท์” เป็นแบ็คอัพให้ คาราบาว มาจนถึงอัลบั้มที่ ๓ “วณิพก” แล้ว
..ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งขึ้นกับคาราบาว หลังจากเสร็จงานอัลบั้มดังกล่าว “เดอะ เพรสซิเดนท์” มีกำหนดเดินทางไปเดินสายทัวร์อเมริกาทั้งวง รอยต่อช่วงนี้ จึงเป็นห้วงเวลาที่คาราบาวเกิดความระส่ำระสาย เพราะไม่มีนักดนตรีเล่นแบ็คอัพให้ สมาชิกวงมีเหลือแค่ ยืนยงและกิรติ เพียงสองคนเท่านั้น

“เล็กก็ไปด้วย แต่เขาบอกว่าเป็นการทัวร์ครั้งสุดท้าย เมื่อกลับมาก็จะลาออกจากเดอะเพรสซิเดนท์ ระหว่างเวลานั้น ผมต้องเอานักดนตรีในห้องอัดเสียงของอโซน่ามาร่วมงานไปพลางๆ ก่อน ก็มี พี่เป้า มีอาจารย์ธนิสร์ แล้วก็มีพี่ไพรัช-มือเบส และยังได้ เทียรี่ มาด้วย-มาเล่นกีตาร์แทนเล็ก ผมก็เป็นคนร้องและเล่นกีตาร์ ส่วนเขียวก็ต้องร้องแล้วเล่นคอร์ดกีตาร์” ทั้งหมดได้รับการว่าจ้างให้ออกทัวร์คอนเสิร์ตกับคาราบาว ตั้งแต่อัลบั้ม “วณิพก” เรื่อยมา และเข้าร่วมงานในห้องบันทึกเสียงกับอัลบั้ม “ท.ทหารอดทน” เป็นชุดแรก


หลังจากอัลบั้ม “ท.ทหารอดทน” โด่งดังกระหึ่มเมืองตอกย้ำความสำเร็จจากอัลบั้ม “วณิพก” แล้ว
..คาราบาว ก็ยกเลิกสัญญากับ “อโซน่า”
“ผมไม่อยากอยู่กับอโซน่าแล้ว ผมเถียงกับอโซน่าเรื่องห้องอัด ผมจะไปอัดที่ศรีสยามเขาก็ไม่ให้ไป เขาจะให้อัดห้องข้างบนในบริษัทอโซน่า ซึ่งมี ๘ แทรค ..ห้องอัดของเขามีเพียง ๘ แทรค ทำไมเขาไม่ยกระดับคุณภาพงาน.. อุปกรณ์ก็เก่า เครื่องเทปก็เก่า โรงงานตั้งอยู่ที่เดียวกัน ..ผมเห็นสภาพแบบนั้นทุกวัน ผมก็ท้อแท้ เสียงเทปออกมาห่วยมาก สมัยนั้นห่วยมาก เหมือนเขาไม่ยอมลงทุน ผมซังกะตาย
...โดยเรารู้สึกไม่มั่นคงต่อไป
...อันดับแรกคือคุณภาพเทปไม่ดี นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจบ๊ายบาย”

“สาเหตุไม่ใช่เรื่องเงิน..ขอยืนยัน” แอ๊ดตอบ..

“เรื่องเงินทองไม่มีปัญหา เราคุยกันแล้ว..หกบาทก็หกบาท”
(หมายถึงส่วนแบ่ง)



“เมดอินไทยแลนด์”
อัลบั้มประวัติศาสตร์


หลังออกจาก “อโซน่า” ..ช่วงต้นปี ๒๕๒๗ ยืนยงทดลองทำงานเดี่ยวเป็นครั้งแรกแบบอะคูสติก ชุด “กัมพูชา” และในปลายปีเดียวกัน คาราบาว ก็เริ่มทำงานใหม่ “เมดอินไทยแลนด์” ที่กลายมาเป็นอัลบั้มประวัติศาสตร์

“เมดอินไทยแลนด์” ทำยอดขายชนิดถล่มทลาย โดยยืนยงและเพื่อนๆ เองก็คาดไม่ถึง ยอดขายที่คาดหวังไว้แต่แรกนั้น อยู่ที่ตัวเลขแค่ ๕ แสนม้วน “แต่มันได้เป็นดับเบิ้ล !” ยืนยงสำทับ หนึ่งล้านม้วน (ไม่นับเทปผีที่ออกมาเกลื่อน)

อย่างไรก็ตาม อัลบั้มนี้ได้กลายเป็นชนวนร้าวฉานระหว่าง คาราบาวกับ “แกรมมี่” เนื่องจากแกรมมี่แอบขึ้นราคาปกเทปถึง ๒ ระลอกติดๆ กล่าวคือ เดิม “อามีโก้” ให้แกรมมี่ ๒๐บาท ขณะที่คาราบาวได้ ๘ บาท ครั้นเทปขายดี แกรมมี่ตัดสินใจขึ้นราคาปกเทปทันทีเป็น ๒๒-๒๓ บาท ด้วยเหตุนี้-อามีโก้ผู้จัดจำหน่ายจึงผลักภาระให้ยี่ปั๊วขึ้นราคาตามเป็นทอดๆ โดยสมาชิกคาราบาว ไม่ได้มีส่วนรับรู้ใดๆ

“การที่ขึ้นราคาปกนี่ ไปขายได้มากกว่า เพราะเขาดิวซ์กับอามีโก้ แต่เราได้เท่าเดิม ผมบอกให้เลิกนะ ..ผมเลยสาปส่งแกรมมี่ตั้งแต่บัดนั้นมา ทำการค้าเห็นแก่ได้ ขึ้นราคาแล้วไปเอากับใครล่ะ ก็เอากับประชาชนแฟนเพลงคาราบาว น่ะสิ”


ความสำเร็จอย่างท่วมท้นของ “เมดอินไทยแลนด์” ก่อเกิดหลายสิ่งหลายอย่างตามมาแก่สมาชิกแต่ละคน เริ่มจากยืนยงตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่การเคหะแห่งชาติ
“ผมทำเมดอินไทยแลนด์แล้วรู้สึกว่า ผมมีทัวร์ต่างจังหวัดมากเหลือเกิน ผมเลยต้องออก ต้องเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ผมก็ไปบอกพ่อ ..ทีแรกพ่อก็คัดค้าน แต่แล้วผมก็ตัดใจแล้วค่อยบอกพ่อทีหลัง พ่อก็บอก-เอาก็เอา ก็แล้วแต่เรา เมื่อเลือกเดินทางนี้แล้ว ก็ต้องทำทางนี้ให้ดีที่สุด”


นอกจากงานแสดงดนตรีที่เพิ่มเข้ามาแล้ว โครงการใหญ่ของคาราบาว ก็คือการสร้างห้องบันทึกเสียงของตัวเอง “เซ็นเตอร์ สเตจ” ที่ก่อเกิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของคาราบาว ..ทุกคนมีหุ้นส่วนอยู่ในห้องบันทึกเสียงแห่งนี้
“ผมพยายามผลักงานให้มันออกมาใหม่ๆ ให้มีลักษณะพัฒนาขึ้น นั่นคือธรรมชาติของคน”
ยืนยงอธิบาย
“พยายามผลักดันให้งานมันดีขึ้น ให้มีคุณภาพ ..ด้านส่วนตัวผมก็ไปศึกษาเพิ่มเติม นำทฤษฎีความเป็นอยู่มาผนวกกับการแสวงหาวัตถุดิบ ควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ ตรงนี้เราถึงการันตีว่างานที่เราจะทำ มีคุณภาพด้านเทคโนโลยีประกันด้วย เรามีห้องอัดเป็นของตัวเอง เรามีเวลาในห้องอัดที่จะทำงานกับมันมากๆ แทนที่จะต้องไปเช่าห้องของคนอื่น แล้วใช้เวลา ๑๐ วัน ต้องอัดให้เสร็จ
..แต่นี่เรามีเวลาทั้งปีทั้งชาติทำเข้าไปเพราะมันเป็นของเรา ผลงานของคาราบาวมันจะต้องดีกว่าแน่ๆ”

และอีกโปรเจกท์หนึ่งคือ-โครงการตู้หนังสือสำหรับเยาวชน ..ซึ่งคาราบาวต้องเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตหารายได้มาสมทบถึงอเมริกา ก่อนจะกลับมาสร้างภาพยนตร์ “เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ” เป็นการหาทุนมาสมทบอีกทางหนึ่ง

“ผมมาทำโครงการตู้หนังสือและแจกหนังสือแก่เด็กทั่วประเทศ ๓,๐๐๐ แห่ง เป็นเงิน ๓ ล้านบาท เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมต้องไปอเมริกา ได้เงินมา ๘ แสน ก็เป็นเหตุที่ผมต้องถ่ายโฆษณาให้โค้ก ได้เงินมาอีกห้าแสน เป็นสาเหตุให้ผมต้องมาสร้างหนัง ‘เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ’ ..คิดว่าคงจะได้ถึง ๓ ล้าน และเราก็ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานราชการบ้าง หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการบ้าง ในเรื่องของจำนวนตู้ที่ได้มา ๑๖๐ ตู้ ..เราตั้งงบไว้สำหรับที่เราจะทำให้กับสังคมในเรื่องของสิ่งเหล่านี้”

ความสำเร็จจากชุด “เมดอินไทยแลนด์” ถือได้ว่า- แม้คาราบาวจะนำเสนอศิลปวัฒนธรรมแบบอย่างที่ “คาราวาน” เคยเสนอมาแล้ว ..แต่ยืนยงบอกว่า “ที่ผ่านมา-คาราวานเสนอในลักษณะของการต่อสู้เฉพาะเหตุการณ์ แต่ของคาราบาว เสนอในลักษณะเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่สามารถปลุกให้คนมารับรู้เรื่องราวต่างๆ ของสังคมที่เป็นจริง” และความสำเร็จของ คาราบาว ยังมีส่วนช่วยปูพื้นฐานให้วงอื่น ช่วยสะท้อนปัญหาสังคมตามกันออกมา เสมือนคาราบาว ได้ปูทางให้วงรุ่นหลังๆ ไว้ต่อเนื่องจาก “คาราวาน” ที่เคยประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้

กล่าวสำหรับความสำเร็จของคาราบาวที่ได้รับอย่างล้นหลามนั้น ยืนยงมองว่า เพราะคาราบาวเกิดจากรากฐานกว้างขวาง ..ที่สำคัญคือมีการปูพื้นฐานเป็นขั้นเป็นตอน ไม่แปลกที่ยืนยงบอกว่า เมื่อวันนี้เดินทางมาถึงแล้ว..“เรารู้สึกเฉยๆ กับมัน เพราะเรารู้ว่าวันหนึ่งเราต้องชนะ !”

คาราบาวก็เหมือนวงดนตรีอื่นๆ ที่มีปัญหาตามมา หลังจากความสำเร็จของอัลบั้ม "เมดอินไทยแลนด์" เดินทางมาถึง ไม่นานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมือเบสจาก ไพรัตน์ เพิ่มฉลาด เป็น อนุพงษ์ ประถมปัทมะ ที่เล่นให้คาราบาวมาตั้งแต่ยุคแรก




..แอ๊ดน่าจะให้คำตอบนี้ได้กระจ่างชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ?

ยืนยงอธิบายว่า
“หลังจากเดอะเพรสซิเดนท์กลับจากอเมริกา เล็กก็ลาออกมาเข้าวงคาราบาวเต็มตัว เราก็กลายเป็น ๗ คน โดยมีพี่ไพรัตน์ มือเบสอยู่ แล้ว พี่อ๊อด (อนุพงษ์)เข้ามาไม่ได้ด้วยตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งไม่ได้มีการเตรียมตัวไว้ก่อนหน้านี้ แต่พี่อ๊อดมาคุยกับผมว่า จริงๆ แล้ว อยากอยู่คาราบาว เพราะไม่อยากเล่นในบาร์อีกต่อไปแล้ว อยากทำงานที่มันสร้างสิ่งใหม่ๆ”

“ระหว่างพี่รัชกับพี่อ๊อด เราดูคุณสมบัติแล้ว พี่อ๊อดเป็นคนที่รับผิดชอบต่องานสูง เป็นคนที่มีความสามารถแล้วก็เป็นคนที่เล่นมาก่อน ในช่วงที่พี่อ๊อดไปอเมริกากับ เดอะ เพรสซิเด้นท์นั้น รายได้ของพี่อ๊อดในเทปชุดที่แกอัดไว้ ก็ตกเป็นของพี่รัช รายได้ส่วนหนึ่งจากตำแหน่งของพี่อ๊อดก็ตกเป็นของพี่รัช ทั้งๆ ที่พี่รัชไม่ได้เล่นเลย เป็นของพี่รัชนับแต่ชุด ‘ท.ทหารอดทน’
แล้วผมออกจาก ‘อโซน่า’ มาประเดิมชุด ‘กัมพูชา’ แล้วก็เอาเทปมาให้แกรมมี่โปรโมต ในชุด ‘เมดอินไทยแลนด์’ ซึ่งมียอดขายสูง

เขาเคยปลดปล่อยความรู้สึกว่า

“สำหรับคาราบาวนี่ โดยส่วนตัวผมแล้ว มันไม่ใช่วงดนตรี มันเหมือนกับครอบครัว เป็นพี่น้องกัน ในความรู้สึกของผมนะ..”

และรับอีกว่า การทำงานย่อมมีความขัดแย้งบ้างเป็นธรรมดาๆ แต่พอปัญหามันผ่านไปแล้วมันก็สบาย..

“ผมไม่ท้อ-ไม่อะไร ผมมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา คนเราอยู่ใกล้กันการขัดแย่งนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งทะเลาะกัน-ขัดแย้งในเรื่องของงาน ..แบบนี้สิมัน เพราะว่างานมันจะต้องได้ดี”



1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความ