(ถึกควายทุย เป็นเพลงที่ดำเนินต่อกันเป็นภาคๆ เรื่อยมา ตั้งแต่ คาราบาว ชุดแรก อัลบั้ม “ลุงขี้เมา” (๒๕๒๔) และมาจบบริบูรณ์ในอัลบั้ม “ห้ามจอดควาย” (๒๕๓๔) อันเป็นอัลบั้มที่ ๑๐ ซึ่งดำเนินมาพร้อมๆ กับ การสลายตัวของ คาราบาว พอดิบพอดี จึงไม่ต่างอะไรกับการปิดตำนาน “คนคาราบาว” ยุครุ่งเรือง แอ๊ด คาราบาว เขียนที่มาของเพลงนี้ จะเรียกได้ว่าเป็นนิยายเพลง คาราบาว ก็ว่าได้)
ปี ๒๕๒๑ หลังจากที่ผมกลับมาจากฟิลิปปินส์ ก็มีโอกาสได้รู้จักกับวง “แฮมเมอร์” วงดนตรีเพื่อชีวิตที่กำลังมีชื่อเสียงสมัยนั้น ผมเขียนเพลงให้พวกเขาไป ๑ เพลงในอัลบั้ม “หมามุ่ย” ของพวกเขา ซึ่งก็คือเพลง “ถึกควายทุย” นั่นเอง และ แฮมเมอร์ ยังให้ผมช่วยออกแบบปกชุด “ปักษ์ใต้บ้านเรา” ให้พวกเขาอีกด้วย อัลบั้มนี้สร้างชื่อให้พวกเขามาก
แฮมเมอร์นี่เอง ที่พาผมไปรู้จักกับบริษัทเทป “พีค็อค” สังกัดแรกของ คาราบาว ตอนนั้นแฮมเมอร์กำลังทำงานชุด “หมามุ่ย” อยู่พอดี ..ในที่สุดเขาก็ให้ผมเป็นโปรดิวซ์เซอร์งานชุดนี้ให้แก่เขา
นอกจากเขียนเพลงให้เขาไปเพลงหนึ่งแล้ว จริงๆ ผมช่วยเขาอีกหลายอย่าง เช่น ดูแลผลประโยชน์จากการเซ็นสัญญา ผมเป็นคนเซ็นแทน จนเกือบเป็นเรื่องราวใหญ่โตตามมาในภายหลัง รวมทั้งการพิทักษ์สัญญาที่ค่อนข้างจะเสียเปรียบจาก “พนม นพพร” แต่ในที่สุดพวกเขาก็เซ็นไปจนได้
จากนั้นมาผมจึงคิดจะทำเพลงเองบ้าง ผมบอก เขียว (กิรติ) เป็นคนแรก สำหรับเพลง “ถึกควายทุย” นี้ ผมเขียนขึ้นมาโดยรับอิทธิพลมาจากเพลงของ “ครอสบี้ สติลล์ แนช แอนด์ ยังก์” ( Crosby, Stills, Nash&Young ) เขียนเสร็จแล้วก็ได้ พี่สุเทพ (วงโฮป) และเขียวช่วยขลัดเกลาให้สละสลวย เพราะตอนนั้น ผมเพิ่งเริ่มหัดเขียนเพลง ยังไม่ช่ำชอง
เรื่องราวของ “มะโหนก” เป็นชีวิตที่ผมจินตนาการมันขึ้นมาเอง คาราบาว คือควาย “ถึก” คือผู้ทุกข์ยาก ทำงานรับใช้ คนและสังคมอะไรพวกนี้ ผมเขียนโดยผูกเรื่องขึ้นมาแบบนิยาย เป็นเรื่องยาวประมาณ ๑๐ ตอน ๑๐ เพลง ผมขอเรียนตามความเป็นจริงว่า ผมไม่ได้เตรียมเรื่องราวของมะโหนก หรือของถึกขึ้นมาไว้ก่อนเลย ..มันดำเนินไปตามอารมณ์เท่าที่จะนึกได้ในตอนนั้นล้วนๆ
ถึกควายทุยทั้ง ๑๐ ภาค จึงดำเนินไปอย่างกะท่อนกะแท่น แต่จากการที่ผมกลับมาฟังในรอบหลายปีที่ผ่านๆ มา ผมเชื่อว่ามันก็มีเสน่ห์ของมันอยู่เหมือนกัน อย่างเช่น ถึกควายทุย ภาค ๑ มาจนถึง บัวลอย (ถึกควายทุย ภาค ๕) มะโหนก ( ถึกควายทุย ภาค ๖ ) เป็นต้น
นี่คือ..ตำนานคาราบาว
ตำนาน “ถึกควายทุย” ..ตำนานผู้ทุกข์ยากของสังคมไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น