เป็นเกร็ดความจริงของคาราบาว..
จากความทรงจำของ "แอ๊ด" นั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของวงคาราบาว และ ยืนยง โอภากุล ผู้ก่อตั้ง ได้รับการบันทึกผ่านหน้านิตยสารต่างๆ นับไม่ถ้วน ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา (บันทึกเมื่อ ๒๕๔๐) ถ้าจะสืบค้นตามรอยความเป็นมาของคาราบาว ควบคู่กับประวัติของแอ๊ด ยืนยง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดูแปลกแยกแต่อย่างใดเลย
ยืนยง โอภากุล เกิดเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ ที่อำเภอเมือง สุพรรณบุรี เป็นบุตรชายคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง ๖ คน เป็นแฝดผู้น้องของ ยิ่งยง โอภากุล
“พ่อแม่ผมเป็นพ่อค้า ผมเกิดในตลาด
ก็ได้เปรียบเด็กกลางทุ่งนาสักหน่อย
แต่ว่าพื้นเพมาจากท้องทุ่งอยู่แล้ว ผมโตมากับแม่น้ำ”
นั่นคือสภาพแวดล้อมสมัยเด็ก จากปากคำของผู้นำวงคาราบาว วงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่ วงหนึ่งของไทยในปัจจุบัน
ยืนยงเติบโตในครอบครัวของศิลปิน คุณพ่อ มนัส โอภากุล อดีตครูและหัวหน้าวงดนตรีชาวสุพรรณฯ ไม่แปลกเลยที่ยืนยงจะซึมซับความเป็นศิลปินเพลงมาจากพ่อ และไม่แปลกเลยที่เขาจะบอกว่า
“ตื่นมาผมก็เห็นเครื่องดนตรีแล้ว พ่อมีวงดนตรีคล้ายๆ กับ
วงสุนทราภรณ์ แต่วงเล็กกว่าชื่อ
ช.ส.พ.- ย่อมาจากชาวสุพรรณ ”
มนัส โอภากุล กับ สุเทพ โชคสกุล ช่วยกันควบคุมวง ช.ส.พ. ตระเวนแสดงตามสถานที่ต่างๆ การเดินทางอันยาวนานของวงดนตรีวงนี้ สร้างและสัมผัสนักร้องดังๆ ขึ้นมามากมาย เรื่อยมาตั้งแต่ คำรณ สัมบุญณานนท์, สุรพล - ศรีนวล สมบัติเจริญ ตลอดจน สำเนียง ม่วงทอง
ยืนยงบอกว่า วงดนตรีนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อธุรกิจ หากก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสังคม แสดงตามงานเล็กๆ ในหมู่เพื่อนฝูง ตลอดจนงานใหญ่ๆ ระดับจังหวัด ตั้งแต่ สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, อ่างทอง เรื่อยไปถึง กรุงเทพมหานคร ที่วงดนตรีวงนี้ตะรอนๆ ไปเปิดการแสดง
ประวัติความเป็นมาของวงดนตรี “ช.ส.พ.” ของพ่อมนัส โอภากุล ยาวนานเพียงใด ยืนยงรีบตอบว่า..
“ครับ ประวัติค่อนข้างยาวอยู่ ไว้วันหลัง หากอยากรู้ประวัติ ‘ช.ส.พ.’ ให้ไปที่บ้าน แล้วไปขอพ่อดู แกมีแฟ้ม ผมยังเคยแอบดูเลย”
ยืนยง โอภากุล ได้รับการเลี้ยงดูแบบลูกผู้ชาย เรียนรู้การสัมผัสโลกด้วย ตัวเองมาแต่เล็ก สภาพแวดล้อมของเด็กน้อยคือแม่น้ำ ท้องทุ่ง และชาวนา ตลอดจนกล้าข้าว วัวควาย ขึ้นไปถึงชนชั้น ‘นายหนืด’ นายทุนแห่งเมืองสุพรรณบุรี
บนผืนแผ่นดินที่ครอบครัวของเขาตั้งรกรากอยู่นั้น เป็นลุ่มน้ำที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งรวมศิลปินเพลงพื้นบ้าน แม่เพลง พ่อเพลง ของประเทศไทย เด็กชายยืนยงใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างสมบุกสมบันในท้องทุ่งเมืองสุพรรณ จัดอยู่ในขั้นเด็กที่ซุกซนคนหนึ่ง
กล่าวสำหรับชีวิตในวัยเด็กของ ยืนยง โอภากุล ตั้งแต่ชีวิตเขาดำเนิน มาเป็น "แอ๊ด คาราบาว" นักเพลงนักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยิ่งยง ยืนยงมักปฏิเสธที่จะเปิดเผยให้ใครทราบ หากใครถามเขาก็มักจะรวบยอด ตัดตอนมาถึงช่วงระยะ ที่เขาเริ่มย่างสู่วัยหนุ่ม ช่วงก่อนการเดินทางเข้าเรียนต่อในกรุงเทพฯ
“ผมจบจากกรรณสูต อำเภอเมือง แล้วก็อุเทนถวาย พี่ชายคนโตผมก็จบไปจากที่นี่ ผมก็คิดว่าผมก็ต้องเรียนที่นี่โดยไม่ได้คิดมาก่อนว่า เขาจะเรียนอะไรกัน ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มหาวิทยาลัยมันแปลว่าอะไร ตอนผมเข้ามาเรียนกรุงเทพน่ะ ผมว่า-เอ๊ ทำไมพี่ชายผมไม่มา พี่ชายของผมคนนี้เขาไม่ได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพ เขาเรียนม.ศ.๔ ม.ศ.๕ ต่อ..จึงแปลกใจ มารู้ตอนหลัง ว่า-อ๋อ เขาเรียนเพื่อที่จะเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์..”
ยืนยง เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวายในปัจจุบัน โดยสมัยนั้นเครื่องแบบยังเป็นกางเกงขาสั้นสีกรมท่า เสื้อเชิ้ต และเข็มขัดสีขาว และอาศัยข้าวก้นบาตรอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ริมคลองหลอด ประทังชีวิต แน่นอนเหลือเกิน แอ๊ด คาราบาว เติบใหญ่มาจากข้าวก้นบาตร
เขาย้อนถามว่า “ผมเข้ามาเรียนกรุงเทพฯที่อุเทนถวายทำไม เพราะอะไรรู้ไหมฮะ?” ได้ยินแต่เสียงของความว่างเปล่า กระทั่งยืนยง โอภากุล ทำลายความเงียบขึ้นมา
“ผมอยากใช้สไลด์รูล ??”
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมาก ๆ นะครับ
แสดงความคิดเห็น