09 พฤศจิกายน 2551

เพลงแรกในชีวิต



เพลงแรกในชีวิต
กลั่นออกมาจากภาพคนคุก


การเขียนเพลงแรกในชีวิตของ ยืนยง โอภากุล เกิดขึ้นมาระหว่างห้วงที่เขาสะพายกีตาร์ เป่าเม้าท์ เล่นดนตรีหารายได้พิเศษตามคอฟฟี่ช็อพ ยืนยงเล่าว่า..

ครั้งหนึ่งเขาหิ้วกีตาร์โปร่งเข้าไปเล่นดนตรีในคุกคลองเปรม ให้นักโทษฟัง ตามคำชักชวนของเพื่อนชาวสุพรรณบุรีที่บังเอิญเป็นผู้คุมนักโทษอยู่ในนั้น ประสบการณ์ในคุก-ยืนยงเล่าว่า.. เป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง เป็นเรื่องแปลกใหม่ สำหรับเขา ยืนยงว่า-เขาฝังใจในแววตาแต่ละคู่ของนักโทษที่มองมายังเขานั้น รู้สึกเขามีความสุขกับเสียงเพลงจริงๆ กลับออกมาจากคลองเปรมครั้งนั้น แรงบันดาลใจก็พลุ่งพล่าน จนต้องถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้สึกนั้นออกมาเป็นเพลงไทยเพลงหนึ่ง “เพลงนั้นเป็นเพลงไทยที่ผมแต่งเป็นเพลงแรก”

แต่น่าเสียดายต้นฉบับเพลงนี้หายไปแล้วกับกาลเวลา โดยปราศจากความทรงจำ

“ตอนนี้ผมจำเนื้อเพลงนั้นไม่ได้แล้วครับ จำได้แต่ว่า ผมแต่งขึ้นมาเพื่อมอบให้กับนักโทษในคลองเปรมโดยเฉพาะ..” เท่านั้นเอง



ชนวนวันมหาวิปโยค

ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุการณ์บ้านเมืองแปรเปลี่ยน ประชาชนและนิสิต นักศึกษาหลายแสนรวมตัวกันกลางถนนราชดำเนิน ขณะที่ยังมีอีกหลายล้านคนรวมตัวกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมือง เพื่อร่วมกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ทหาร จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร โดยมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)เป็นหัวขบวน

“สู้เข้าไปอย่าได้ถอย
มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม..”

บทเพลง “สู้ไม่ถอย” ที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นผู้ประพันธ์ ดังกระหึ่มขึ้นในหมู่นักศึกษา กล่าวสำหรับเพลงนี้ นักศึกษาร่วมร้องกันครั้งแรก ในการชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรม-คัดค้านการลบชื่อ ๙ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เขียนและพิมพ์หนังสือชื่อ ‘มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ’ ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ชมรมคนรุ่นใหม่’ เปิดโปงกรณีนายทหารจำนวนหนึ่งที่พาดาราสาวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของราชการ บินเข้าไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร เมืองกาญจนบุรี กระทั่งเครื่องบินตก ปรากฏซากสัตว์เกลื่อนทุ่ง เนื้อหาในหนังสือมีการตีพิมพ์ข้อความพาดพิงถึง การต่ออายุราชการของจอมพลประภาส จารุเสถียร ว่า

“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี”

นั่นเป็นที่มาของการเปิดโปงก่อนเป็นชนวนสู่เหตุการณ์นองเลือด



สู้ไม่ถอย
ต้นธารเพลงเพื่อชีวิต


เพลง “สู้ไม่ถอย” ถือได้ว่าเป็นต้นธารเพลงเพื่อชีวิตเพลงแรกของไทย เป็นบทเพลงที่กำเนิดขึ้นจากความอัดอั้น และความรู้สึกที่ถูกปิดกั้นทาง เสรีภาพมาอย่างเนิ่นนาน เป็นบทเพลงที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้แก่ผู้ชุมนุมนับแต่นิสิตนักศึกษาและมวลชน หลังบทเพลงนี้ดังกระหึ่ม ..ในห้วงเดียวกันก็มีเพลง “สานแสงทอง” ของ สุรชัย จันทิมาธร แห่งวง ‘คาราวาน’ ตามมาอีกเพลง เนื้อหาและอารมณ์ของทั้งสองบทเพลง ถือเป็นการปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ ให้มวลชนลุกขึ้นมาต่อสู้ขับไล่เผด็จการทหาร หากแต่เนื้อหาของเพลงหลัง-มุ่งคำนึงถึงเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก ผู้ประพันธ์เพลงหลังไม่ใช่ใครที่ไหน หากเป็นอาจารย์ใหญ่ของเพลงเพื่อชีวิตนั่นเอง

สุรชัย จันทิมาธร-ซึ่งเขาเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมขบวนการต่อสู้ในเหตุการณ์วิปโยค ครั้งนั้นด้วย

หงา-สุรชัยเป็นคนคอยเขียนกลอนส่งให้โฆษกบนเวทีอ่านให้ประชาชนฟัง เพื่อปลุกเร้าขวัญกำลังใจหลอมรวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

เพลง “สานแสงทอง” ถือกำเนิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว
โดย สุรชัยเดินตามทำนองเพลง FIND THE COST OF FREEDOM
ของ "ครอสบี้ สติลล์ แนช แอนด์ ยังก์"

“ขอผองเราจงมาร่วมกัน ผูกสัมพันธ์ยิ่งใหญ่
สานแสงทองของความเป็นไทย ด้วยหัวใจบริสุทธิ์..”




๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖..วันมหาวิปโยค

การเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้นักศึกษาทั้ง ๙ คนไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งก็ถูกลบชื่อออกไปในเวลาต่อมา โดยที่ไม่มีใครสามารถระงับยับยั้งได้ ประกอบด้วย

นายแสง รุ่งนิรันดร์กุล, นายวันชัย แซ่เตียว, นายบุญส่ง ชเลธร, นายวิสา คัญทัพ, นายสมพงษ์ สระกวี, นายสุเมธ สุวิทยะเสถียร, นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์, นายประเดิม ดำรงเจริญ, นางสาวกุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์

ส่วนนักศึกษาจำนวน ๑๕ คนที่เป็นหัวหอกในการเรียกร้องความเป็นธรรม ก็ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนด้วย เหตุนี้เองนิสิตนักศึกษาอีกทั้งประชาชนจึงลุกฮือขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม จึงพากันชุมนุมกันขึ้น ณ ถนนราชดำเนิน ห้อมล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองยุคนั้นรุมเร้าไปด้วยปัญหาสารพัน ทั้งเศรษฐกิจ ปัญหาชาวนา กรรมกรรถไฟ แหล่งเสื่อมโทรม และปัญหาคอรัปชั่น บทเพลง “สู้ไม่ถอย” “สานแสงทอง” ถูกขับขานครั้งแล้ว ครั้งเล่า เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า เพิ่มดีกรีความร้อนแรงยิ่งๆ ขึ้นไป

นักศึกษาจำนวน ๑๕ คนที่รวมตัวกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ออกแจกใบปลิวและหนังสือเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แต่ผลที่สุดก็ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ ธรรมศาสตร์กลายเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของนักศึกษา

องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จับมือผนึกกำลังกับ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เรียกร้องรัฐบาลให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม

เหตุการณ์สืบเนื่องจากนั้นคือ ประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนและนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมใจกันเคลื่อนตัวออกมาชุมนุมกันด้านนอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานพระบรมรูปทรงม้า

การประท้วงยืดเยื้อต่อไปถึงวันใหม่ ๑๔ ตุลาคม แม้ว่ารัฐบาลจะยินยอมออกคำสั่งปล่อยตัว ๑๕ นักศึกษาแล้วก็ตาม แต่แล้วรัฐบาลก็ตัดสินใจใช้คำสั่งปราบปรามผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่เดินเรียงหน้าออกมายิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนอย่างไม่ยั้งหวังสลายการชุมนุม เหตุการณ์บานปลายขึ้นเรื่อยๆ การปะทะเกิดขึ้นตามมาในที่สุด สุดที่ จะหลีกเลี่ยง สถานที่ราชการหลายแห่งถูกเผาทำลาย เลือดเนื้อชีวิตของประชาชนเลือดเนื้อชีวิตของนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก ถูกเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต



๑๔ ตุลาคม..แอ๊ดอยู่ที่ไหน !

นองเลือด ๑๔ ตุลาคม ยืนยงเรียนอยู่ปีที่ ๓ อุเทนถวาย

“ตอนนั้นแอ๊ดอยู่ที่ไหน?”

“๑๔ ตุลาผมก็อยู่ในเหตุการณ์.. ผมไปร่วมด้วย สนุกดี เขาให้ทำอะไรก็ทำตามเขาไป พอทหารยิงปืน-เราก็อยากยิงบ้างแต่เราไม่มีปืน เขาเอารถถังมา-เราก็เอากระถางต้นไม้เท่าที่จะหาได้ขว้างไป เผาตึกกองสลาก พวกแก๊สน้ำตาน่ะกระจอก..ผมเอาผ้าหนาๆ พันหัวชุบน้ำก็พอมองเห็น ตามซอยต่างๆ มันจะปิดซอยแล้วยิง ผมหมอบลงแล้วกลิ้งเข้าข้างๆ ตึกแถว พอดีเป็นร้านขายรองเท้า เขาสงสารเปิดประตูแล้วดึงผมเข้าไป”

ยืนยง กล่าวถึงประสบการณ์ตัวเองในเหตุการณ์นองเลือด ๑๔ ตุลาคม

๑๔ ตุลาคม จบลงด้วยคราบเลือดและน้ำตาของมวลชน ‘สามทรราชย์’ เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศในบัดดล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัยนั้น ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลพลเรือนที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกผู้คนอย่างเต็มที่ ลัทธิมากมายในหมู่ชั้นปัญญาชนสยามและนิสิตนักศึกษา มีการจัดนิทรรศการจีนแดง ธารสายสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเวลานั้นยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก อาทิ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน มีการถกเถียงกันถึงศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ชื่อของนักคิดนักเขียน "จิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์" เรืองนามขึ้นมาฐานะผู้นำทางความคิดของปวงชน

ความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก การเอารัด เอาเปรียบ ความรุนแรง ถูกตีแผ่ซึ่งเปิดเผย ออกมาในรูปของ “บทเพลง” ต่างๆ คาราวาน ผู้นำเพลงเพื่อชีวิต ..คาราวานจากการนำของ สุรชัย จันทิมาธร กลายเป็นผู้นำด้านบทเพลง เพื่อชีวิตยิ่งใหญ่และจับใจกระแสมวลชนยุคนั้นเป็นที่สุด เพลงแล้วเพลงเล่าเรื่อยมาตั้งแต่ “คนกับควาย, เปิบข้าว, ข้าวคอยฝน” ดังกระหึ่มตามรั้วสถาบันที่พวกเขาไปเปิดการแสดง

ขณะที่เพลงที่ครองใจหมู่ชนยุคนั้นอย่าง สุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธ์ หรือแม้กระทั่ง "ดิอิมพอสซิเบิล" เหมือนจะถูกแยกไปอยู่ในหมู่ผู้ฟังอีกระดับหนึ่ง และเป็นดังลูกคลื่นตามมา..พอ "คาราวาน" ดังกระฉ่อน วงอื่นๆ ในแนวเดียวกันก็เกิดขึ้น นับเรื่อยมาจาก.. ‘กรรมาชน, คุรุชน, โคมฉาย, กงล้อ, รวมฆ้อน, ต้นกล้า’ ..มาจนถึง..ลูกทุ่งสัจจธรรม ทั้งที่มีผลงานในรูปของแผ่นเสียงและไม่มีการบันทึกเสียง อย่างไรก็ตาม บทเพลงต่างๆ ที่พวกเขาขับขาน ถูกขีดกรอบให้ร่ำร้องอยู่แต่ในรั้วสถาบันการศึกษาเท่านั้น

“คาราวานมีอิทธิพลกับคาราบาวมากน้อยแค่ไหน ?”
ยืนยงตอบ..
“มีส่วนฮะ เพราะก่อนหน้าที่ผมจะไปฟิลิปปินส์ ผมได้ฟังดนตรีของเขาก่อนไป แต่ผมไม่เคยดูคาราวาน ผมรู้จักคาราวานในนามของวง 'อิสซึ่น' เพราะวงอิสซึ่น-ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ากรุงเทพฯ เขาชื่อวง 'คาราวาน โฟร์' ผมรู้จักคาราวานคือ อิสซึ่น ช่วงที่ผมจะไปฟิลิปปินส์ผมซื้อเทปมาชุดหนึ่งกลับไปสุพรรณ ไปเยี่ยมแม่ มีเพลงนักร้องลูกทุ่งด้านหนึ่ง อีกด้านเป็นของคาราวาน ผมก็ได้ฟังม้วนนั้นน่ะ ฟังจนยืด”
และบังเอิญเพื่อนที่เป็นรูมเมทที่ฟิลิปปินส์ ก็ฟังเพลงของ คาราวาน และชอบเล่นเพลงคาราวาน “คนพวกนี้มีจิตใจเป็นนักต่อสู้เป็นศิลปินของนักศึกษา เป็นศิลปินของม็อบในเวลานั้น แต่ตัวผมมันโตมาทางงานอีกด้านหนึ่ง ทางเพลงสากลที่มีรากฐานที่ต่างกัน ด้านคาราวานนั้น-เพลงพวกพื้นบ้านเขาจัดเจนแล้วก็ได้อารมณ์กว่า ช่วงนั้น คาราวานมีบทบาทมากในงานของแง่ดนตรีเพื่อชีวิต ถ้าเพลงที่ไม่พูดถึงความรักก็เหมาว่าเป็นทายาทของคาราวาน หากคิดอย่างนั้นก็ไม่ผิด ที่พวกเราจะยกย่องเขา”


ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ สังคมไทยสู่ยุควิกฤตทางการเมืองอีกครั้ง นักศึกษาที่เคยเกาะกลุ่มกันอย่างแน่นเหนียว ถูกแทรกแซงโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เริ่มแพร่เข้าสู่เมือง จนฝ่ายทหารเริ่มหวั่นไหว เหตุการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เพราะเกิดการปะทะขึ้นเป็นระยะๆ เกิดภัยมืดคุกคามผู้นำต่างๆ ผู้นำนักศึกษาถูกฆ่า ผู้นำชาวนาถูกฆ่า นักการเมืองถูกลอบสังหาร ในกรุงเกิดจราจลขึ้นบ่อยหน ชนวนของการเข่นฆ่ากันเองเกิดขึ้นอีกครั้ง

จอมพลถนอม กิตติขจร ขอเข้ามาบวชเป็นสามเณรที่วัดบวรฯ อ้างว่ามาเยี่ยมบิดาซึ่งป่วยหนัก พลันกระแสต่อต้านจากนักศึกษาก็อุบัติขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่นานก็เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างนิสิตนักศึกษาประชาชนกับฝ่ายรัฐบาล ข้อหาคอมมิวนิสต์กลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้มีการล้อมปราบนักศึกษา

เช้าตรู่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เหตุการณ์ ตุลาวิปโยคเกิดขึ้นอีกครั้ง กำลังตำรวจ-กลุ่มลูกเสือชาวบ้านจากการจัดตั้งของฝ่ายอำนาจเก่า ยกกำลังบุกล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วินาทีหลังจากนั้น เสียงปืนดังกึกก้องฟ้า นิสิตนักศึกษาจำนวนมากถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด และประชาชนบาดเจ็บ ล้มตายจำนวนมหาศาล พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๕๑๗ และแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ยืนยงย้อนถึงเหตุการณ์นองเลือดครั้งที่ ๒ ว่า
“วันที่ ๖ ตุลาคม ผมกลับบ้านที่บางแค น้องชายผมเรียนอยู่ที่ทันตแพทย์ จุฬาฯ ถูกจับกุม วันนั้นผมออกจากบ้านมาท่าพระจันทร์พอดี เห็นนักศึกษากำลังกระโดดหนีลงแม่น้ำเจ้าพระยากัน ความจริงคนที่น่าจะถูกฆ่าคือคุณธานินทร์ เพราะเขาได้ทำความชั่วร้ายไว้มากมาย..”

แอ๊ดรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้ !
“ผมรู้สึกสลดหดหู่กับมัน คือผมเริ่มเห็นว่า บ้านเมืองเรานั้น มันตกอยู่ภายใต้เผด็จการ เช่นเดียวกันกับหลายๆ ประเทศที่เป็นอยู่ แต่ว่ามันอยู่ในรูปแบบที่แยบยล-ประชาชนไม่มีสิทธิเต็มที่ แต่ว่าไอ้ช่วงนั้นมันมีการประท้วงหรือการก่อม็อบที่ซับซ้อนหลายเรื่อง บางทีผมก็แยกไม่ออก ผมไม่ได้เข้าลึก ทั้งๆ ที่เป็นคนที่ร่วมอยู่ในแนวร่วมอาชีวศึกษาใน ๑๔ ตุลาคม คือก้าวหน้า แต่ว่ายังไม่ถึงระดับที่จะเข้าร่วมในทีมหัวใจสำคัญ”

เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้เอง ที่เป็นเหตุผลให้ทางบ้านตัดสินใจส่ง "ยืนยง โอภากุล" ไปเรียนต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์



๓ สหายบนแผ่นดินตากาล็อก

“คนที่ไปตอนนั้นส่วนหนึ่งคือไปก็เพราะใจ บางคนก็หนีไป บางส่วนเข้าป่า บางส่วนพ่อแม่ส่งไปเรียนนอก ให้พ้นๆ ก็มีจำนวนไม่มาก”

ยืนยงนึกคิดถึงสภาพนักเรียนไทยที่กระเสือกกระสนไปเรียนต่างแดน อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

“ส่วนเราเองที่ไปนี่ อยู่ในสภาพแวดล้อม ที่ผมเคยๆ อยู่ เพื่อนในบ้าน หรือในโรงเรียนนั้น มีน้อยคนที่จะรู้เรื่องราวของเรา อาจจะเป็นเพราะฐานะทางบ้าน-ครอบครัวที่สามารถส่งลูกไปเรียนได้ ทำให้เด็กพวกนี้ไม่ค่อยคิดถึงสังคม ไม่ใช่คนต่อสู้แต่คนต่อสู้จริงๆ ก็ใช่ว่าไม่มี”

ยืนยงหมายถึงปฏิกริยาและความตื่นตัวของนักเรียนไทยในฟิลิปปินส์ต่อเหตุการณ์ ‘ตุลาวิปโยค’

ยืนยงเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย "มาปัว อินสติติ๊ว ออฟ เทคโนโลยี่" ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านช่างก่อสร้างและวิศวกรรมของประเทศฟิลิปปินส์ รองจากมหาวิทยาลัย "ซานโตโทมัส" และ "ยู.พี." เขาตั้งใจตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียวตามความประสงค์ของทางบ้าน ดนตรีที่เคยเล่นเมื่อครั้งอยู่เมืองไทยนั้นดูจะเป็นเรื่องรอง “หลังจากจบปี ๓ (ประมาณ ม๖) ผมก็ไปเรียนต่อฟิลิปปินส์ ไปเจอ เขียว กับเพื่อนอีกคนที่นั่นคือ ไข่-สานิต ลิ่มศิลา ก็ตั้งวงกัน ทีแรกเขียวจะไม่เล่นแล้ว เพราะเขาเล่นมาเยอะ แม่เลยส่งไปเรียนต่อฟิลิปปินส์”



นั่นเป็นรอยต่อของวันเวลา ระหว่างแผ่นดินไทยกับผืนดินตากาล็อกก่อนการเดินทางไกลสู่ฟิลิปปินส์

“สมัยอยู่อุเทนฯ ก็เล่นโฟล์กซองไปด้วย แต่พอไปฟิลิปปินส์ แทนที่จะเลิก กลับได้ฤกษ์ ไปเจอเพื่อนอีก ๒-๓ คนที่เล่นดนตรีมาแล้ว.. ก็เลยรวมกันเป็น คาราบาว




คาราบาว คือเขาควาย



คาราบาวคืนสู่แผ่นดินไทยหลังตุลาคม ๒๕๑๙ เพลงเพื่อชีวิตมีบทบาทสูงอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษา แม้จะถูกรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปิดกั้นเสรีภาพทางด้านการเสพก็ตาม ก่อนหน้าและหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ก่อเกิดวงดนตรีเพื่อชีวิตมากมายในเมืองไทย เพลงดังๆ หลายเพลงมุ่งสื่อการปลอบประโลม การให้ความหวัง กำลังใจ การปลุกเร้า พลังในการมีชีวิตและการต่อสู้ คาราวาน, คุรุธรรม, โคมฉาย และอีกหลายวงที่อยู่หัวแถวของขบวนเพลงเพื่อชีวิต เดินทางเข้าร่วมเป็นหน่วยศิลป์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผลิตเพลงเพื่อชีวิตออกมาเป็นจำนวนมากขับกล่อมกลุ่มปัญญาชน นักศึกษา

ขณะที่การขับขานบทเพลงในเมืองกรุงมีเพียงวง‘แฮมเมอร์’วงเดียว ที่ผุดแทรกขึ้นท่ามกลางการเดินพาเหรดเข้าป่าของวงอื่นๆ ระยะเวลาสืบต่อจากนั้น ยืนยงและเพื่อนก็ทะยอยกันเดินทางกลับมาจากประเทศฟิลิปปินส์ มาถึงแผ่นดินไทย..ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปตามวิถีทางของตน

ยืนยงเข้าทำงานการเคหะแห่งชาติและรับเหมาก่อสร้าง เป็นเหตุให้ห่างดนตรีไป

“สองปีแรกผมไม่ค่อยได้ทำเรื่องดนตรีเท่าไหร่ ทำงานการเคหะอยู่ ๔ ปีกว่า เล่นดนตรีบ้างหยุดบ้างเพราะงานมันเยอะขึ้น ผมรับเหมาก่อสร้างด้วย ทำหลายอย่าง”


นั่นเป็นงานประจำของยืนยงก่อนเบนเข็มเป็น คาราบาว เต็มตัว

แต่ประสบการณ์อีกหน้าหนึ่งของยืนยงระหว่างทำงานการเคหะ ที่ยืนยง มักจะซ่อนมันไว้เบื้องหลังความทรงจำ นั่นคือ ภายหลังเดินทางกลับจากดินแดนตากาล็อก เขาได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในป่า ทำหน้าที่ส่งข่าวต่อต้านผ่านทางหมู่บ้านต่างๆ

“ผมอยู่ใกล้ชายแดนลาว ได้เรียนรู้ด้านการเมืองและการทหารเป็นเวลาสั้นๆ แต่เขตงานจริงๆผมอยู่ที่อีสานใต้”


ชีวิตในช่วงนั้นยืนยงบอกว่าลำบากมาก เพื่อนๆ หลายคนตายในป่าในสนามรบ พวกเมล์อย่างผมก็ถูกติดตามตลอด หน่วยจัดตั้งของผม-ก็ถูกเก็บถูกไล่ล่าจากทหารฝ่ายรัฐบาล เมื่อการเคลื่อนไหวในป่าสิ้นสุดลง นักศึกษาปัญญาชนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ได้รับการอภัยโทษและทะยอยออกจากป่า เข้ามอบตัวในปี ๒๕๒๓

"ผมตัดสินใจต่อสู้ ..และแนวทางต่อสู้ของผมก็คือ-ดนตรี"






1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ