12 พฤศจิกายน 2551

๖ สมาชิกยุคบุกเบิก (๑)


และจากนี้ไป..ก็จะได้สัมผัสบางเสี้ยวส่วนของอีก ๖ สมาชิกยุคบุกเบิก ที่สร้างชื่อตรึงตาไว้ในความทรงจำว่าเป็น "คาราบาว" แม้วันเวลาจะผ่านไปเป็นสิบๆ ปี.. เหล่าแฟนพันธุ์แท้ก็มีแต่ภาพเขาทั้ง ๗ คนนี้อยู่ในอณูสมองตลอดมา

เขียว คาราบาว
กับ 'เขียว มรกต'


สำหรับ ‘เขียว’ กับการเริ่มต้นในคาราบาว นอกจากเล่นกีตาร์ยุคแรกๆ แล้ว-เขาก็ช่วยแอ๊ดร้องด้วย แม้จะร้องมาหลายเพลง แต่เพลงที่เป็นที่กล่าวขานจริงๆ ก็เห็น จะเป็นเพลง “สัญญาหน้าฝน” ในอัลบั้ม “ห้ามจอดควาย”







เขาบอกถึงเหตุที่เพลงนี้ดังขึ้นมาได้ก็เพราะว่า
“แอ๊ดมีความสามารถพิเศษ เขามองคน แล้วเขียนเพลงให้คนอื่นได้ดี อย่างเพลง ‘สัญญาหน้าฝน’ ที่เขาเขียนให้ผม แล้วให้ผมร้องออกมาแบบซื่อๆ มันเป็นลักษณะของเพลง ที่ออกมาซื่อๆ เขามักจะกำหนดอะไรต่อมิอะไร ได้ดีตรงนี้”

หลังจากเริ่มงานเดี่ยวในอัลบั้ม “ก่อกวน” ฉายาเขียวก็เปลี่ยน ไปเป็น “เขียว มรกต” ตามชื่อวงแบ็คอัพของเขา

..เขียวบอกว่า การทำอัลบั้มเดี่ยวนั้น เป็นความคิดที่ก่อขึ้นมานานแล้ว

“ผมอยากจะลองดู อยากทำในสิ่งที่เราถนัด หรือเรียกว่าชอบน่ะ..”

บังเอิญได้แจมอยู่กับนักดนตรีในห้องบันทึกเสียงเซ็นเตอร์สเตจ ของคาราบาว อาทิ “วงตาวัน”-จอมณรงค์ วรบุตร ..หลายๆ คนบอกว่า-เอาซิ ก็เลยลองดู..

“แอ๊ดช่วยแต่งมาให้หนึ่งเพลง คือ ‘ไม่เคย’ ซึ่งกลายเป็นเพลงดังที่สุดในเดี่ยวชุดแรก ส่วนอีกหลายเพลงเขาเขียนเนื้อเอง ทั้งๆ ที่อยู่คาราบาวนั้น ไม่เคยเขียนมาก่อน “

“ลองดู แต่ต้องบอกก่อนเลย เพราะอันนี้เป็นครั้งแรกที่ผมลองดู ตอนแรกก็ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกัน”




ส่วนนักดนตรีในห้องอัดส่วนใหญ่นั้น ได้วง “ตาวัน” มาช่วย แต่เวลาแสดงบนเวทีจะแตกต่างจากเพื่อนๆ วงอื่น ซึ่งใช้นักดนตรีอาชีพที่ค่อนข้างเชี่ยวชาญ แต่เขียวกลับใช้นักดนตรีกลุ่มใหม่สดๆ ซิงๆ นั่นคือวง “มรกต”

“นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ นี่ ผมมีความรู้สึกว่ามีพื้นฐานดีขึ้น เราอยากให้โอกาสเขา เขาขาดก็เพียงแค่ประสบการณ์และชั่วโมงบินเท่านั้นเอง เรื่องความรู้แล้วก็ฝีมือของเขา ผมว่าไม่เลวหรอก..”








สัญญาหน้าฝน - กิรติ-เขียว คาราบาว



เล็ก-ปรีชา ชนะภัย
หน้าหยกหนวดงามฉายา "กีต้าร์พูดได้"



“เล็ก คาราบาว” หรือ ปรีชา ชนะภัย เข้าร่วมกับคาราบาว ตั้งแต่วินาทีแรกที่แอ๊ดและคาราบาว ถูกไล่ออกจากการเล่นประจำในโรงแรมแอมบาสเดอร์ ปรีชาเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๘ บิดาเป็นทหารอากาศ ส่วนมารดาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เรียนชั้นอนุบาลที่ โรงเรียนช่างอากาศบำรุง จบชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี แล้วมาต่อช่างก่อสร้างอุเทนถวายจนจบ


เริ่มเล่นดนตรีในตำแหน่งกีตาร์ มาแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมที่เขมาฯ เป็นนักดนตรีประจำโรงเรียน ออกงานของโรงเรียนบ่อย เมื่อมาอยู่อุเทนฯ และได้เจอกับแอ๊ด การรวมวงจึงเกิดขึ้นอย่างไม่มีปัญหาในรั้ววิทยาลัยนั่นเอง ใช้ชื่อวง “นิว คัมพานี” เมื่อ แอ๊ดไปเรียนต่อที่ฟิลิปปินส์ วงดนตรีที่เคยร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาก็ต้องแยกสลาย เล็กย้ายไปเล่นกับวงโน้นวงนี้ ตามผับตามบาร์ และครั้งหนึ่งยังเคยร่วมงานกับ “เทียรี่ เมฆวัฒนา” กระทั่งมาหยุดอยู่ที่วง “เดอะ มิชชั่น” แล้วเข้ามาสมทบกับ “เดอะ เพรสซิเดนท์” เป็นวงสุดท้าย ..ก่อนจะเข้าร่วมกับคาราบาว..

เขาจึงเป็นคนเล่นดนตรีมาตลอดชีวิต


“ผมเล่นมาตั้งแต่สมัยยังไม่แต่งเพลงเองเลย ตั้งแต่เล่นบาร์แล้วเล่นเพลงฝรั่งก็ก็อปปี้เพลงฝรั่ง และก็เล่นตามบาร์ เล่นเพลงเต้นรำ เจ้าของบาร์ไม่ค่อยชอบวงผมเท่าไหร่ เพราะว่าวงผม (มิสชั่น) ชอบเล่นเพลงที่คนไม่ค่อยได้ยินเหมือนเพลงแร็ปสมัยนี้ สมัยก่อนเล่นฟังกี้ เล่นอะไรฟังยากๆ เต้นรำก็เต้นยาก.. วงผมเล่นเพลง-ไม่ตามตลาด”


เล็กเข้าร่วมกับคาราบาว หลังจากอัลบั้ม "ลุงขี้เมา" ออกวางตลาดไปแล้วระยะหนึ่ง โดยไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดเท่าใดนัก จนแอ๊ดร่ำๆ ว่า-จะเลิกวง แต่เล็กซึ่งเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่กับแอ๊ดมาก่อน ก็ให้กำลังใจเพื่อนฝูงให้ยืนหยัดทำวงคาราบาวต่อไป โดยตัวเขาเองก็จะขอเข้าร่วมวงด้วย แม้ตอนนั้นเล็กจะยังอยู่กับเดอะเพรสซิเดนท์ ก็ตาม

นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน วันที่เล็กไปหาแอ๊ดที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ วันเดียวกับที่คาราบาวถูกตะเพิดออกมาจากบาร์นั่นเอง และเขาก็เข้าร่วมกับคาราบาว ในอัลบั้มที่ ๒ “แป๊ะขายขวด” โดยเขามีส่วนทำดนตรีและร้องด้วย จากนั้นมา เล็กก็ถูกวางบทบาทให้เป็นผู้ดูแลดนตรีของคาราบาว ร่วมกับแอ๊ด ซึ่งรับหน้าที่หลักในการเขียนเนื้อเพลงไปด้วย ทุกเพลงของ คาราบาว จะมีสำเนียงกีตาร์ของชายหนุ่มคนนี้สอดแทรกอยู่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของวง

กล่าวสำหรับ “ดนตรีที่มีวิญญาณ” อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกจากฝีมือของเขา เล็กเหมาทั้งเขียนเนื้อ ทำทำนอง ทำดนตรีเอง เขาบอกว่าเป็นสิ่งที่เขาคิดไว้นานแล้ว

“ถ้าผมออกโซโลอัลบั้มเมื่อไหร่ ก็ต้องทำเองทั้งหมด ผมตั้งใจไว้แบบนี้..”

มือกีตาร์ร่างเพรียว ยอมรับว่างานชุดแรกนี้มีข้อด้อยมาก ที่มองเห็นคือ

“ในเรื่องการเขียนเนื้อร้องค่อนข้างจะ.. ใช้คำว่าอะไรดีล่ะ บางทีมันก็เข้าใจยาก”

เขาบอกว่า-ผ่านการฝึกฝนเรื่องการเขียนเนื้อเพลงมาพอประมาณสมัยเล่นดนตรีแรกๆ

“บางทีเราวางคอนเซ็ปต์ที่จะเขียนเรื่องนี้ มีทำนองที่แต่งขึ้นมาแล้ว ลงตัวพอดี มันก็ไปกันได้ แต่มันก็มีบ้างทีที่เขียนไปแล้ว มันติดอะไรบางอย่าง นึกไม่ออกมั่ง อะไรมั่ง งานศิลปะบางทีมันก็บอกยาก”


หลายคนมองว่า การเขียนเนื้อเพลงของเล็ก ยังดิบและไม่สู้สละสลวยนัก ซึ่งจุดนี้-เขาเองก็ยอมรับว่า เป็นเช่นนั้นจริง แต่เล็กย้ำว่า นั่นไม่ใช่ปัญหาของเขาที่ต้องวิตก




“ผมว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรอก เราต้องแก้ไขมันทุกอย่าง อย่าว่าแต่ผมเป็นนักดนตรี แล้วใครมาบอกดนตรีของผมดีหรืออะไร ..ผมไม่เคยฟังคำวิจารณ์เหล่านี้เลย มันไร้สาระน่ะ .. บอกกันตรงๆ ผมรู้ตัวผมเองว่า ดีหรือด้อย..”
เล็กระบุทัศนะของตน

สำหรับข้อมูลในการเขียนเพลง เล็กเผยว่าส่วนใหญ่เป็นข้อมูลใกล้ตัว นี่เอง

“..ผมจะเอาเรื่องที่ใกล้ๆ ตัว ได้รู้ได้พบเห็นด้วยตัวเอง มาเขียนเป็นเพลง”


ในอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก-คอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม มีเนื้อหามุ่งสื่อสารกับเด็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าสังเกตเพลงที่เล็กเลือกร้องในอัลบั้มของ คาราบาว ..เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับเด็กเป็นส่วนมาก หรือไม่ก็หนักไปทางปรัชญา เช่น

“ลอยหาย คนเก็บฟืน เฒ่าทะเล” หรือ “ลูกหิน” มือกีตาร์หนุ่มใหญ่บอกว่า สาเหตุมันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาด้วย

“ผมผ่านชีวิตมาจากครอบครัวที่ยากจนมาก แล้วก็อยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่มันไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่..”

แต่นั่นไม่เกี่ยวกับการขาดความอบอุ่นของครอบครัว

“ความอบอุ่นผมมี ๑๐๐ % ฮะ โดยคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยกัน จนคุณพ่อเสียไป ไม่มีปัญหาเรื่องการหย่าร้าง พี่น้องก็อบอุ่นกันดีอยู่แล้ว แต่มีปัญหาเรื่องความยากจนเท่านั้นเอง แล้วเราได้อยู่ในแวดวงที่เค้าเรียกว่าอะไรล่ะ ..เอ้อ-ในสังคมที่เพื่อนบ้านจนมาก ยิ่งหนักเข้าไปอีก สภาพต่างๆ มันจึงได้เข้ามาเป็นประสบการณ์”

เขาเชื่อว่าเด็กๆ ถือเป็นรากฐานแรกของชีวิต

“เป็นการตอกเสาเข็ม..เป็นอะไรพวกนี้ ผมเน้นในจุดนี้มากกว่า” สำหรับอัลบั้มเดี่ยวแต่ละชุดที่ทำออกมา เล็กย้ำว่า “ผมไม่ได้มองว่าจะไปแข่งอะไร หรือ จะไปเอาใจตลาด ผมไม่สนใจ ผมทำงาน –ผมอยากทำดนตรีของผมให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้นเอง” งานแต่ละชิ้นที่ออกไป ก็เหมือนกับภาพถ่าย “อีกสักประมาณ ๒๐ ปี เราเอาภาพนั้นมาดู เราก็จะรู้ว่า-ตอนนั้นเราเป็นอย่างไร มันรู้สึกได้ และเพลงก็เหมือนกัน..”




ไม่มีความคิดเห็น: