18 พฤศจิกายน 2551

๖ สมาชิกยุคบุกเบิก (๒)


อ๊อด-กระถาง กับ ขลุ่ย-ธนิสร์

อ๊อด-อนุพงษ์ ประถมปัทมะ
“ผมเป็นนักดนตรีธรรมดา”


อ๊อดเข้าร่วมกับ คาราบาว ตั้งแต่อัลบั้มที่ ๒ “แป๊ะขายขวด” ในฐานะมือเบส “ผมชอบเพลงแนวฟังกี้ พอมาอยู่ คาราบาว ใหม่ๆ ก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน เพราะเขาจะฟังแต่คันทรีร็อก ..ดิ อีเกิ้ลส์ แต่ผมฟังอีกแบบ..”

อ๊อดสารภาพถึงความรู้สึกแรกๆ เมื่อครั้งเข้าร่วมงานกับคาราบาว

“ตอนนั้น-มันชอบอย่างนั้น ชอบเพลงเต้นรำ ...แต่อย่างช่า ช่า ช่า นี่ เชื่อหรือเปล่าว่า เพลงวณิพกนี่ ทำเอาผมแทบตาย เขามีโน้ตมาให้ พอเอามากาง-ตายห่า จังหวะ ช่า ช่า ช่า กูจะเล่นยังไงวะ ไม่ค่อยได้เล่น ย้อนไปฟังดูก็แล้วกัน ..วณิพกมันจะแปลกๆ นะ”

อนุพงษ์ เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๙๔ แต่ครอบครัวเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม จากนั้นก็เข้าอุเทนถวายรุ่นก่อนหน้าแอ๊ดและเล็ก ซึ่งช่วงนั้นไม่เคยเจอะเจอกันมาก่อนเลย ก่อนเข้ามาคาราบาว อ๊อดทำงานอยู่ในสตูดิโอหลายแห่ง เคยผ่านงานด้านเพลงประกอบภาพยนตร์ เคยร่วมงานกับ “ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล” และ ช.อ้น ณ บางช้าง (เดอะ ฟ็อกซ์) ในภาพยนต์ไทยเรื่อง “เทวดาเดินดิน” และครั้งสุดท้ายเล่นเบสอยู่กับ “เดอะเพรสซิเดนท์” วงเดียวกับ-เล็ก “ผมทำงานมาด้วยกันกับเล็ก ตั้งแต่เล่นกับ เดอะ เพรสซิเดนท์ ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ เล็กเป็นคนชวนผมให้มาเล่นวงคาราบาว หลังจากที่เขาอัดชุดแรก-ลุงขี้เมากันไปแล้ว เล็กเอาเทปชุดแรกมาเปิดให้ฟัง ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักแอ๊ด ..ฮึ้ย! เพลงนี้แปลกดีโว้ย กล้าพูดกล้าแสดงออก แนวดนตรีก็คล้ายกับที่เราเล่นอยู่ เราชอบ..”

อ๊อดเคยเล่นดนตรีอยู่ตามแคมป์ต่างๆ เพลงส่วนใหญ่ที่เล่นก็เป็นเพื่อชีวิตอยู่แล้ว ต่างกันแต่เป็นเพลงภาษาอังกฤษเท่านั้น หลายๆ เพลงพูดถึงยาเสพติด พูดถึงรัฐบาล พูดถึงนักรบ พูดถึงทหาร พูดถึงผู้หญิง ลักษณะคล้ายกับคาราบาว สำหรับแนวเพลงที่เดอะเพรสซิเดนท์เล่นนั้น สมัยก่อนยึดแนวฟั้งกี้ เพลงเต้นรำเป็นหลัก โดยส่วนตัวอ๊อดเอง ก็ฟังเพลงแนวนี้ ครั้นเข้ามา คาราบาว อ๊อดบอกว่า “ผมยังติด.. ก็เหมือนคนอีสานนั่นแหละ พอมาอยู่กรุงเทพฯ สำเนียงมันก็ติดอิสานมา พอเข้าคาราบาว เผลอๆ ก็เล่นฟั้งกี้ แต่คาราบาวเขาเป็นคันทรี่ร็อก มันก็ใช้งานผิดประเภทเหมือนกัน เรารู้ตัวว่า-สำเนียงมันต้องค่อยๆ แก้ มันแก้ลำบาก มันติดแนวทางที่เคยเล่น แต่ก็เล่นกันมาเรื่อย..”

สมัยแรกๆ นั้น คาราบาวตระเวนเล่นตามสถาบันการศึกษาต่างๆ “เล็กบอกว่า เล่นตามสถาบันเฉพาะตอนเย็น วันที่เราหยุดเล่นประจำ เราก็มาแกะเพลงคาราบาวในวันหยุดนี่แหละ พอเริ่มซ้อมก็มารู้จักแอ๊ด-รู้จักเขียว” อ๊อดร่วมทัวร์กับคาราบาวตั้งแต่อัลบั้มที่ ๒ เรื่อยมา กระทั่งแอ๊ดพาวง เข้าสังกัด “อโซน่า” ออกอัลบั้ม “วณิพก” และ “ไลฟ์” (แสดงสด) ..อ๊อดกับเล็กก็ต้องตระเวนทัวร์อเมริกากับ เดอะ เพรสซิเดนท์

หลังกลับจากอเมริกา เล็กก็เข้าคาราบาวเต็มตัว ส่วนอ๊อดยังเล่นต่อกับ เดอะ เพรสซิเดนท์ “ถ้าเราไม่เล่นอีกคน เพรสซิเดนท์ก็ไม่เต็มวง มันก็กระไรอยู่ เพราะสัญญาที่แอมบาสเดอร์คลับมันค่อนข้างชัดเจน โอ.เค. เรายังเล่นกับเพรสซิเดนท์ กระทั่ง คาราบาวอัดชุด ‘เมดอินไทยแลนด์’ เสร็จแล้ว เขียวกับเล็กก็มาคุยสองสามครั้งว่า คาราบาวมีโครงการจะทำสตูดิโอ เพราะเมื่อก่อนเห็นเราก็ทำสตูดิโออยู่ที่ ศรีกรุง-อโศก เราทำงานในสตูดิโอมาตั้งนานแล้วละเราชอบอยู่แล้วแบบนี้ ..จึงคิดว่า-เออดีนี่หว่า เราชอบอยู่แล้ว เราก็ออกจากเพรสซิเดนท์ ประมาณต้นปี ๒๕๒๘ ก็มาเล่นกับคาราบาวเลย”

แต่มือเบสของคาราบาวขณะนั้นคือ "ไพรัช เพิ่มฉลาด" “เราก็ไม่รู้ว่าทำไมพี่รัชไม่เล่นต่อ หรือว่าเขาไม่ให้เล่น หรือเล่นไม่ได้ เราไม่รู้นะ เราไม่รู้เรื่องจริงๆ .. ถ้าถามว่าทำไมพี่รัชออกไป-ไม่รู้ว่ะ รู้แต่ว่าเขาให้มาเล่น เราดิวส์กับคนที่เหลือมากกว่า”

การทำงานในคาราบาวนั้น อ๊อดบอกว่าทุกๆ คนจะช่วยกัน แม้แต่ไลน์เบสในส่วนความรับผิดชอบของเขา

“เบสหลายไลน์มีหลายคนคิด บางทีเล็กคิด เทียรี่คิด เพราะบางทีเพลงของเขาทำมาคิดมา เราก็มาโมดิฟายให้เข้ากัน บางเพลงยังไม่มีเสียงร้อง แต่เราอัดเบสก่อน พอเขามาร้อง-ถ้าเบสมันกัดกับเสียงร้อง ก็ต้องอัดใหม่ ถ้าไม่เข้ากับกีตาร์ก็ต้องอัดใหม่..”




เรื่องเบสนั้น-ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ปัญหาของอ๊อด หากแต่เป็นเรื่องที่หนักอกจริงๆ คือ การร้องเพลง

“โอ้โฮ !! ทรมานมาก ถ้าให้ผมร้องเสียงประสานนี่-ได้ เพราะผมเล่นเพลงฝรั่งมาก่อน แต่เสียงไม่ดีถึงขั้นเป็นนักร้องนำได้หรอก มันทรมานคนฟัง ความรู้สึกมันบอกไม่ถูกเหมือนกัน ..เพลงแรก ‘กระถางดอกไม้’ ผมฟังเนื้อแล้วมันก็โอเค เนื้อหาคำร้องนี่ช่วยได้”

หลังจากนั้น อ๊อดก็รับหน้าที่ร้องอีกครั้งอย่างทรมานทรกรรมในเพลงที่สอง คือ “ลุงหริ”

ปี ๒๕๓๒ สมาชิกคาราบาวแต่ละคนแยกตัวไปทำงานเดี่ยว เหลือเพียงแต่ ‘อ๊อด’ คนเดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้แยกไปไหน “มันไม่ใช่ผม..” คือเหตุผลสั้นๆ ถามต่อว่า “ไม่คิดออกอัลบั้มเดี่ยวโชว์เบส อะไรทำนองนั้น เหมือนมือเบสระดับโลกของฝรั่งบ้างหรือไร!?” “ผมไม่ใช่ครู ผมเป็นนักดนตรีธรรมดาๆ ความรู้ความสามารถของผมมันไม่พอ วิธีการเล่นของผมเป็นนักดนตรี ไม่ใช่อาจารย์สอนดนตรี หลายๆ คนถามผมว่า ทำไมไม่เปิดโรงเรียนสอนดนตรี ผมบอกว่า-ผมไม่ได้เรียนมาเพื่อสอน แต่ผมเรียนมาเพื่อทำงาน”

“ไม่ใช่เรียนมามาก พอรู้มากก็ทำตัวเป็นอาจารย์ แล้วสอนคนโน้นคนนี้ ..สอนไปผิดๆ ตายเลย ผมวอรี่ตรงนี้ เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญ บางทีมันรู้ไม่หมดแล้วสอนไปผิดๆ มันก็ผิดไปตลอด ..แต่ถ้าให้แนะนำน่ะ-ได้เลย”






กระถางดอกไม้ให้คุณ - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ - อ๊อด คาราบาว





ขุนพลขลุ่ยไทย..ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี

“ผมใกล้ชิดกับขลุ่ยมาตั้งแต่เด็ก..” ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี กล่าวถึงความผูกพันของเขากับ “ขลุ่ย” เครื่องดนตรีที่ถนัดเล่นมากที่สุด “สมัยเด็กๆ ผมอยู่บ้านนอก ไฟฟ้ายังไปไม่ถึง เครื่องดนตรีที่นิยมมากในสมัยผมก็คือขลุ่ย อันละไม่กี่บาท ก็ซื้อมาเล่นมาเป่า-ตรงนั้นก็เลยติดมา..”
เมื่อเข้าร่วมงานกับคาราบาว ..ขลุ่ยไทย ก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขา



ธนิสร์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่จังหวัดสิงห์บุรี เรียนจบด้านดนตรี สากลรุ่นแรกมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แล้วไปเป็นครูสอนดนตรีอยู่พักใหญ่ที่ วิทยาลัยครูจันทรเกษม ก่อนจะออกมาเล่นดนตรีกลางคืน ผ่านวงดนตรีชั้นนำของเมืองไทยมาหลายวง ตั้งแต่วงดนตรีของอดีตราชาลูกทุ่งผู้ล่วงลับ “สุรพล สมบัติเจริญ” กระทั่งวงสตริงแห่งยุค อาทิ เดอะฟ็อกซ์ , แบ๊พติค, ช็อคโกแลต เป็นต้น




ธนิสร์เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เข้าร่วมแตรวงตามงานศพงานแห่นาค

“ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๐ ขวบ ได้ค่าจ้างก็ราวๆ ๕ บาท สนุกดี บางทีก็ตีฉิ่ง เล่นงานแบบนี้บ่อยเหมือนกัน ที่สิงห์บุรีแค่นี้เอง” ในวัยหนุ่ม..เมื่อจบม.๖ ก็เข้าผจญชีวิตในกรุงเทพฯ เล่นดนตรีตามบาร์ ตามความฝันของนักดนตรีหนุ่มๆ สมัยนั้น “ช่วงแรกที่เล่นเพราะชอบอย่างเดียว พอมาถึงช่วงมัธยมต้น ก็รู้แล้วว่าจะต้องเอาดีทางดนตรีแล้ว เพราะไปไหนต่อไหนมันเป็นเงินทั้งนั้น ผมไม่มีเงิน ..พ่อเป็นภารโรง แม่ก็ชาวนา ต้องช่วยตัวเอง เรียนไปด้วยเล่นไปด้วย..”


อาจจะแปลกใจว่า..ทำไมธนิสร์ซึ่งผูกพันกับดนตรีไทย แต่ไหง มาเรียนดนตรีสากล

“จริงๆ แล้วผมเป็นคนยุค ‘60 นั่น ..ชอบหมดนะครับ คลิฟ ริชาร์ด เดอะ บีทเทิ้ลส์ เอลวิส ..ไม่ใช่ว่าสนใจดนตรีไทยแล้วผมเล่นเฉพาะตรงนี้อย่างเดียว ผมสนใจแนวเพลงอย่างนี้ด้วย สมัยที่เรียนนั่น ฟังประเภทคลาสสิกเลย บังเอิญผมเป็นคนครึ่งๆ เรื่องดนตรีน่ะ ..ดนตรีไทยก็เล่นมาเยอะ ดนตรีสากลก็เล่นมามาก เลยพอจะมองออกบ้าง..”


เมื่อคาราบาวแยกย้ายกันไป..ธนิสร์ก็ไปจับกลุ่มกับ 'เทียรี่และน้าเป้า' ทำงานด้วยกันอยู่สองสามอัลบั้ม แล้วก็ไปรับจ๊อบทำดนตรีในงานต่างๆ กระทั่งตั้งร้านขายขลุ่ย และทำงานเดี่ยวของตนเอง ซึ่งเน้นในส่วนของการโชว์ขลุ่ย-แซกโซโฟน และเครื่องเป่า มีทั้งงานระดับติดดิน ไปจนถึงขั้นไฮโซฯ



พอมีการรวมตัวกันทำงานเฉพาะกิจของคาราบาว อจ.ธนิสร์..ก็หาโอกาสมาร่วมด้วยอยู่เสมอๆ






ความฝันอันสูงสุด - ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี

ชื่อเพลง : ความฝันอันสูงสุด
อัลบั้ม : ความฝันอันสูงสุด
ศิลปิน : อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
ประเภท : อัลบั้มภาคพิเศษ
อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป่าเพลงนี้ด้วยขลุยพญางิ้วดำ ไพเราะมาก


1 ความคิดเห็น:

Sukhumvit1 กล่าวว่า...

โจรขึ้นบ้าน"อ๊อด คาราบาว"หลังกลับจากทัวร์ยุโรป

"อ๊อด คาราบาว" กลับถึงบ้านหลังทัวร์คอนเสิร์ตยุโรปสะดุ้งถูกตีนแมวย่องงัดบ้าน
แต่โชคดีติดประตูเหล็กชั้นใน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปโจรกรรมทรัพย์สินได้
วอนตำรวจเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตรา

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 พ.ย. 2551
ร.ต.ท.วัชระ ประพฤติบัติ ร้อยเวรสภ.พระนครศรีอยุธยา
รับแจ้งมีเหตุคนร้ายงัดบ้านในหมู่บ้านพร้อมสุข
ม.3 ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา
จึงพร้อมด้วย พ.ต.ท.สมนึก เสงี่ยมงาม สวป.ไปยังที่เกิดเหตุ
เมื่อไปถึงพบว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านเดี่ยวดัดแปลงตกแต่งหรูหรา
เป็นบ้านสามชั้น มีรั้วรอบขอบชิด ตั้งอยู่เลขที่ 123/57
ด้านหลังบ้านยังมีการก่อสร้างบ้านอีกหลายหลัง
เจ้าของบ้านคือนายอนุพงษ์ ประถมปัทมะ อายุ 57 ปี
หรือ อ๊อด มือเบส วงคาราบาว ยืนรอพบเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่
จากนั้นได้นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่ประตูทางเข้าข้างบ้าน
ซึ่งมีประตูสองชั้น ชั้นแรกลูกบิดมีรอยงัดในรูกุญแจจนทำให้ลูกบิดเสียหาย
จากนั้นคนร้ายได้พยายามงัดประตูเหล็กชั้นใน
แต่ปรากฏว่างัดไม่ได้ทำให้เหล็กมือจับหักเสียหาย
แต่ไม่สามารถเข้าไปภายในบ้านได้
จนท.จึงเก็บร่องรอยทั่วไปไว้เป็นหลักฐาน
เบื้องต้นจนท.รับที่จะให้สายตรวจมาตรวจบริเวณดังกล่าวมากขึ้นต่อไป

หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551