30 ตุลาคม 2551

ส่วนที่ขาดหายไปจากตามรอยควาย



ภาคที่ 4 ของส่วนที่ขาดหายไปจากตามรอยควาย
(หนังสือเล่มหนาที่นำข้อมูลมาจากดุษฎีนิพนธ์ ของ-วรัตต์ อินทสระ)

อาจารย์มานพ แย้มอุทัย
อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนที่)เคยเป็นนักข่าว คอลัมนิสต์ ครีเอทีฟ เป็นผู้ทำงานเบื้องหลังในวงการสื่อสารมวลชนมาโดยตลอด เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ กิรติ พรหมาสาขา ณ สกลนคร ในสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ และเมื่ออาจารย์มานพได้เจอเพื่อนคนนี้อีกครั้ง ความเป็นนักประชาสัมพันธ์และคนโฆษณาถูกนำมาใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับคาราบาว มีช่วงชีวิตที่เข้าไปสัมผัส
กับคาราบาว แม้วันนี้จะถอยห่างออกมาเป็นผู้ดูอยู่วงนอก แต่ความทรงจำที่ดีกับคาราบาวยังไม่เคยเลือน


ผมเป็นเพื่อนกับ เขียว (กิรติ พรหมสาขาฯ) ตั้งแต่เรียนอยู่สวนกุหลาบ เขาอยู่รุ่น ๘๓ มัวคอยรุ่นของผม (๘๔) อยู่ ก็เลยได้เรียนจบพร้อมกัน พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ต่างแยกย้ายกันไป เขียวไปเจอแอ๊ดที่ฟิลิปปินส์ ผมเรียนที่จุฬา ฯ เรียนจบก็มีโอกาสช่วยทำรายการของ บริษัท ๗๒ โปรโมชั่น ในรายการ “เพลงนานาชาติ” กับ “โลกดนตรี” และยังได้ทำรายการ "มันกว่าแห้ว" ทางช่อง ๕ กับ "เสียงติดดาว" ช่อง ๗ โดยสองรายการหลังนี้ เป็นของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง ยุคที่ “กู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เป็นเอ็มดี. และเปลี่ยนมาเป็นแกรมมี่ในเวลาต่อมา



แล้ววันหนึ่ง..ทางโปรดิวเซอร์-ส่งคิววงดนตรีที่จะมาออกรายการให้เราบันทึกเทป ผมนั่งอยู่บนห้องไดเรคเตอร์ชั้นบนของสตูดิโอ..แล้วมองผ่านกระจกลงมาข้างล่าง เห็นนักดนตรี..ก็สงสัยว่า-นี่มันเพื่อนเรานี่หว่า (หมายถึงเขียว คาราบาว)จึงลงมาทักทายกันตามประสาเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน

การบันทึกเทปในยุคนั้น ยังไม่เรียกมิวสิควิดีโอ น่าจะเรียกว่าเป็นเพลงประกอบภาพมากกว่า เราได้ถ่ายเพลง “กัญชา” ที่สตูดิโอของวีพีซี.อยู่ซอยทองหล่อ ซึ่งเพลงของคาราบาวมันมีความดิบ ก็เลยคิดเอาหัวกะโหลกมาเล่น โดยใช้เทคนิคโครม่าคีย์ (เหมือนเทคนิคตัดสีฉากหลังแบบ blue-screen ของภาพยนตร์) แล้วนำมาซ้อนภาพ แอ๊ด ยืนร้องเพลงอยู่ข้างหน้าหัวกะโหลกขนาดใหญ่ ที่มีหยดเลือด (ใช้สีโปสเตอร์) ค่อยๆ หยดลงมาบนกระโหลก แอ๊ดก็เห็นว่าเข้าท่าดี เลยรู้จักมักคุ้นกันมาตั้งแต่ตอนนั้น ต่อมาในตอนหลัง ค้นหาข้อมูลทำข่าวก็พบว่า- แอ๊ดเคยประกวดร้องเพลงของช่อง ๓ เพื่อจะเป็นตัวแทนประเทศไทย ในปีเดียวกับที่ นันทิดา แก้วบัวสาย ได้ตำแหน่งชนะเลิศ ก่อนจะไปได้แชมป์เอเซีย วัน audition เพลงรอบแรก แอ๊ดใส่เสื้อเชิ้ตขาวพับแขน-กางเกงยีนส์ไปประกวด เพราะยังทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่การเคหะแห่งชาติ แล้วใช้เวลาว่าง..เล่นดนตรี
ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้


สำหรับชื่อ “คาราบาว” นั้น ตอนแรกก็มีคนเข้าใจผิดคิดว่าเลียนแบบ “คาราวาน” แต่พูดกันแบบแฟร์ๆ คือต่างคนต่างก็ไม่รู้จักกันเลย ช่วงนั้นเพลงเพื่อชีวิตมันเบาลงไปแล้ว เพราะสถานการณ์การเมืองมันเข้าที่ รู้สึกว่าจะมีแค่วง “แฮมเมอร์” ที่ยังได้รับความนิยมอยู่ในหมู่คนฟัง ด้วยเพลง “บินหลา / ปักษ์ใต้บ้านเรา” ส่วน “คาราวาน” ก็ออกจากป่า มาเล่น Concert for Unicef บันทึกเทปให้ EMI ออกขาย “คาราบาว” เองก็ทำงานของเขา โดยออกมาสองชุดแรกก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ตอนเจอคาราบาวครั้งแรกนั้น-เขาขายเพลงให้กับ บริษัทพีค็อก แล้วพีค็อก ก็มาซื้อคิวเพลงเพื่อออกรายการในเครือพรีเมียร์ฯ ดังที่เล่าให้ฟังตอนต้น



ก่อนหน้ายุคนั้น..วัยรุ่นไทยฟังแต่เพลงสากลล้วนๆ ไม่สนใจเพลงไทยเลย โดยเพลงไทยก็มีแต่เพลงแนว สุนทราภรณ์ และ แนว สุเทพ-ชรินทร์-ธานินทร์-สวลี เป็นต้น พอมาถึงช่วงหลังปี ๒๕๒๐ เพลงไทยก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จนถึงช่วงที่ “คาราบาว” เริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงนั้น ก็เป็นช่วงที่ มีวงดนตรี-นักร้องโด่งดังก็ได้แก่ แกรนด์เอ็กซ์ ชาตรี รอยัลสไปร้ทส์ แมคอินทอช สาว สาว สาว ฟรีเบิร์ด สุชาติ ชวางกูร ฯลฯ ซึ่งคาราบาวตามมาโด่งดังในช่วงเดียวกับศิลปินเหล่านี้

ให้สังเกตว่านักร้องส่วนใหญ่ในยุคนั้นร้องเพลงป็อป ทางนิตยสาร “โดเรมี” ที่เป็นบรรรณาธิการอยู่ ก็จัดให้มีการโหวตศิลปินยอดนิยมของผู้อ่านตลอดครึ่งปีหลังของ พ.ศ.๒๕๒๖ โดย แกรนด์เอ็กซ์ กับ ชาตรี มีคะแนนตีคู่กันมา พอถึงวันประกาศผล ที่มีการถ่ายทอดสดผ่านรายการ “โลกดนตรี” วงคาราบาวก็มาร่วมงานด้วย โดยไม่เกี่ยงงอนว่า - ภาพรวมส่วนใหญ่ของงานเป็นแนวป๊อบมากกว่าเพื่อชีวิต

“ทำให้ผมชื่นชมว่า วงนี้มีสปิริตดีมาก ทึ่งในสปิริตของพวกเขา ทั้งๆ ที่รู้ว่า - ผลโหวต จะไม่ใช่คาราบาวแน่ๆ"




“วรัตต์ อินทสระ” แฟนพันธุ์แท้ ที่ทำดุษฎีนิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก)ด้วยเรื่อง “คาราบาว” แล้วเขาก็ถอดเทปนำมาโพสต์ไว้ที่
http://www.carabao2524.com/board/show.php?ques_no=2096

ด้วยหัวเรื่องว่า... เพลงของคนอื่นถ่ายทอดอารมณ์
แต่คาราบาวถ่ายทอดชีวิต : มานพ แย้มอุทัย


“วรัตต์ อินทสระ” เกริ่นนำ-
ก่อนเดินเรื่องบทสัมภาษณ์ว่า..

บทความนี้...ผู้เขียนขอสละลิขสิทธิ์ทุกตัวอักษร เพื่อให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความที่มีส่วนผสมทางวิชาการนี้ ก่อประโยชน์ต่อสาธารณชนและแฟนเพลงคาราบาว เนื้อหาที่เรียบเรียงไว้ มีการอ้างถึงที่มาเอกสารประกอบการเรียบเรียง หรือบุคคลอื่น ๆ ที่ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในตอนท้ายของบทความนี้

ข้อมูลบางส่วน อาจได้มาโดยไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงขออนุญาตเจ้าของวรรณกรรมทุกท่าน หากข้อความหรือประโยคใดๆ มีส่วนเหมือน คล้ายคลึง หรือถูกคัดลอกมาทั้งโดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจ

แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอใช้สิทธิ์โต้แย้งบางประการ ตามสามัญสำนึกของวิญญูชน หากมีการอ้างสิทธิ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงดนตรีคาราบาว
เพราะเรื่องราวของคาราบาว
ควรเป็นของคาราบาว...มิใช่ของเรา



ไม่มีความคิดเห็น: