20 พฤศจิกายน 2551

'ทับหลัง' อัลบั้มสุดท้าย



'ทับหลัง' อัลบั้มสุดท้าย
ก่อนแยก..แล้วรวมตัว




สมาชิกยุครุ่งเรืองของคาราบาว ทำงานร่วมกันอีกเพียง ๔ อัลบั้ม
คือ อเมริโกย-ประชาธิปไตย-เวลคัม ทู ไทยแลนด์ และ ทับหลัง
จากอัลบั้ม "ทับหลัง" ในปี ๒๕๓๑ สมาชิกแต่ละคนก็ทยอยแยกตัวออกไปทำงานส่วนตัว ต่างสังกัด ท่ามกลางกระแสข่าวกระเซ็นสาย..
คาราบาว แตก!!



ทับหลังถือเป็นอัลบั้มสุดท้ายของการทำงานร่วมกัน คาราบาว คืนกลับมากับอัลบั้ม "ห้ามจอดควาย" แบบไม่ครบวง ในกลางปี ๒๕๓๓ สมาชิกที่ขาดไปคือ เทียรี่ ธนิสร์ และอำนาจ ที่ติดตระเวนทัวร์อัลบั้มส่วนตัว

ปี ๒๕๓๔ ออกอัลบั้ม "วิชาแพะ" ในนาม '๓ คน คาราบาว' มี ยืนยง-อนุพงษ์-ปรีชา และญาติๆ ในปีเดียวกันนี้ สมาชิก คาราบาว ยุครุ่งเรืองกลับมารวมตัวกันเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมเล่นคอนเสิร์ต ในฐานะครบรอบ ๑๐ ปี
"ก่อนจะเหลือเพียงความทรงจำ" เวทีสุดท้าย ที่เอ็มบีเคฮอลล์มาบุญครอง เมื่อวันที่ ๒๕-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๔

ข่าวที่สำคัญที่สุดในห้วงนี้คือ "เขียว กิรติ" สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง คาราบาว ไม่ได้เข้าร่วมบนเวทีเพียงคนเดียวด้วยเหตุผลส่วนตัว

หลังคอนเสิร์ตที่แสดงรวม ๒ รอบแล้ว..เจ็ดคนคาราบาว ก็แยกย้ายกันไปตามแนวทางของแต่ละคนเช่นเดิม

ยืนยง โอภากุล ยังคงนำพาคาราบาวเดินหน้าต่อไป แม้จะขาดสมาชิกยุครุ่งเรืองโดยสิ้นเชิงก็ตาม ยกเว้น'อ๊อด-อนุพงษ์'ที่ยืนหยัดกับวงมาตลอด ระหว่างการดำเนินไปของคาราบาววงเล็ก ยืนยงพาตัวเองเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเต็มตัวมากขึ้น การต้านเขื่อน การเข้าร่วมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตลอดจนการร่วมประท้วงโกนหัว เรียกร้องกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับ 'เรือตรีฉลาด วรฉัตร'ที่หน้ารัฐสภา

อัลบั้มใหม่ของ คาราบาว วงเล็กออกมาอีก ๔ ชุด ได้แก่
"สัจจะ ๑๐ ประการ" ในปี ๒๕๓๕ - "ช้างไห้" ในปี ๒๕๓๖
"คนสร้างชาติ" ในปี ๒๕๓๗ และปี ๒๕๓๘ กับอัลบั้ม "แจกกล้วย"










๑๕ ปีคาราบาว



ความเป็นมาของวง คาราบาว ดำเนินมาถึงจุดนี้ มากพอที่จะทำให้ปี ๒๕๓๘ เป็นปีที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับผองเพื่อนคาราบาว เมื่อสมาชิกวงยุครุ่งเรือง ๗ คน-คาราบาว กลับมารวมตัวกันอีกครั้งอย่างเต็มวง เพื่อร่วมกันทำอัลบั้ม เฉพาะกิจเขาควาย ในวาระ ๑๕ ปี คาราบาว

ยืนยง-กล่าวถึงที่มาของการทำอัลบั้ม ๑๕ ปีนี้ว่า "ผม เล็ก เขียว อ๊อด นี่จะไปมาหาสู่กันเสมอ อาจารย์ธนิสร์ก็นัดเจอพูดคุยกัน แต่เทียรี่นี่นาน ๆ จะเจอกันที สุดท้ายก็นัดเจอกันมาทำ ๑๕ ปี"



ยืนยงยกตัวอย่างว่า

"คาราวานมี ๒๐ ปี /'ดิ อีเกิ้ลส์' ก็กลับมารวมตัวกัน ..เราก็คิดอยากจะรวม แต่กลัวคนเขาว่า..ไอ้เรื่องนี้-เราทำต้องเป็นธุรกิจอยู่แล้ว แต่คนที่เขาผิดหวังที่เราแยกกันไปต้องกลับคืนมา เราก็ทำให้แฮปปี้-คือทำเพลงใหม่ จาก ๑๐ เพลง เป็น ๒๐ เพลงเลย"

“ตลอดเวลามีกระแสเรียกร้องให้ผมรวมตัว มันก็เลยทำให้คิด ..ทีแรก-อาจารย์ธนิสร์ไม่อยากมา กลัวคนกล่าวหาว่าฉวยโอกาส ผมก็บอกอาจารย์ว่าเราทำให้แฟน เราก็อายุมาก ดีชั่วแฟนเขาแฮปปี้ที่เรารวมกัน ..แล้วที่เรารวมกันก็ไม่ใช่ง่ายๆ เราต้องรวมกันด้วยใจ แต่วันนี้ที่เรามารวมกันเราเคลียร์แล้ว”








19 พฤศจิกายน 2551

๖ สมาชิกยุคบุกเบิก (๓)



เทียรี่..จากดาราหน้าลูกครึ่ง
มาแต่งตัวมอซอกับวงเขาควาย




ช่วงเป็นวัยรุ่นเข้าวงการบันเทิง เด็กหนุ่มลูกครึ่งคนนี้ ถูกปั้นให้เป็นนักแสดงและเป็นนักร้องแนวพ็อบในสังกัดเทปมาก่อน แต่โชคชะตาก็จับพลัดจับผลูให้เขาอยู่กับดนตรี และได้พบกับ 'ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี' กับ 'อำนาจ ลูกจันทร์' นักดนตรีรับจ้างตามห้องบันทึกเสียง เลยชวนไปเป็นมือปืนรับจ้างเล่นดนตรีด้วยกันที่ห้องอัดอโซน่า ..ขณะเดียวกัน หากมีโอกาสก็ออกเทปไปด้วยในแนวพ๊อพ ภายใต้สังกัดอโซน่า เช่นอัลบั้ม
“ล่องเรือรัก”

..กระทั่งได้เป็นมือกีตาร์ของคาราบาวในที่สุด

“ก่อนหน้าเข้าคาราบาวตอนนั้นผมยังเด็กเกินไป ยังไม่ได้คิดเรื่องอะไรพวกนี้หรอก ผมภูมิใจครับกับเวลาตอนนั้น ถ้าชีวิตตอนนั้นไม่ได้อยู่กับคาราบาว ผมก็อาจจะไม่เป็นอย่างนี้ ป่านนี้จะเป็นยังไงก็ไม่รู้ มันก็เหมือนชะตานะ พอเรามาเจออย่างนี้ มันก็เหมือนเราได้หันออกมาจากเมื่อก่อน
สิ่งที่ได้จากคาราบาวมันติดอยู่ในตัวผม..”
เทียรี่บอกอย่างภาคภูมิใจ

ชีวิตในความเป็น คาราบาว ในหลายๆ ปีที่ผ่านมานั้น มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม หากเราได้มองกลับไปหามัน

“ใช่แน่นอน เพราะว่าเราได้ทำอะไรเยอะจากตรงนั้น
เช่น วิธีการทำงาน ความรู้สึก แล้วก็อุดมคติ
อุดมการณ์หลายๆ อย่าง..”


ก่อนหน้าที่จะเข้าเป็นนักดนตรีในห้องอัดอโซน่านั้น เคยร่วมเล่นดนตรีตามโรงแรมกับ ‘เล็ก’ มือกีตาร์อีกคนของคาราบาวมาก่อน สมัยที่เล็กกำลังจะทำวงคาราบาวกับแอ๊ดนั้น ก็ยังเคยชวนเทียรี่มาร่วมด้วย แต่เหตุจำเป็นบางอย่าง ทำให้เทียรี่ไม่สามารถเข้าร่วมด้วย ...เขาเองก็เสียดายโอกาสนั้นไม่น้อย กระทั่งคาราบาวออกอัลบั้มไปแล้ว ๒ ชุด ก็มาเข้าสังกัดอโซน่า ซึ่งระหว่างนั้น เทียรี่ก็เป็นนักดนตรีในห้องอัดเสียงของอโซน่าพอดี ทำให้พบกับคาราบาวอีกครั้ง

เหตุการณ์ประจวบเหมาะ เมื่อเล็กต้องเดินสายทัวร์อเมริกากับ เดอะ เพรสซิเดนท์ เทียรี่จึงมีโอกาสเข้าไปเล่นกีตาร์แทนเล็กในช่วงเดินสายทัวร์อัลบั้ม “วณิพก” ซึ่งช่วงเวลาการทำงานอัลบัมนี้ในห้องอัดเสียง เทียรี่ได้ช่วยร้องประสานเสียงในบางเพลงด้วย แต่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกถาวร

เทียรี่เคยให้สัมภาษณ์แบบติดตลกเสมอว่า พอได้เข้าคาราบาวแล้วก็ไม่ยอมออกอีกเลย ซึ่งต่อมาเขาก็เป็นสมาชิกคาราบาวเต็มตัว ในอัลบั้ม “เมดอินไทยแลนด์” เรื่อยมาจนถึงอัลบั้ม “ทับหลัง” จึงแยกตัวออกไปทำงานเดี่ยวบ้าง

“ผมได้มาเรียนรู้ ได้มาศึกษาจากทุกๆ คนในคาราบาว อาจจะเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดในการมองโลก มองสังคมของตัวผมก็ได้ ..ได้ตรงนี้มาอย่างชัดเจนมาก แล้วได้หลายอย่างด้วย ทั้งวิธีการทำงานของคาราบาวและอื่นๆ”


เทียรี่เพิ่งจะเริ่มเขียนเนื้อเพลงเอง ก่อนหน้าที่จะออกจากคาราบาวสัก ๒-๓ ปีเท่านั้น “ผมก็ไม่ได้เก่งเลย ผมต้องใช้ความพยายามอย่างสูงมาก บอกตรงๆ นะ ว่าผมไม่เก่ง มันเยอะมากที่เขียนแล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่ได้” เขาบอกด้วยว่า ได้วิธีการทำงานด้านการเขียนเนื้อมาจากแอ๊ดมากมาย

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาเขียนเพลงได้มาจากหลายทาง “ได้จากการเดินทาง การพูดคุย แล้วก็การอ่านหนังสือ..คือผมเป็นคนชอบอ่าน อันนี้เป็นนิสัยที่ดีผมได้มาจากแอ๊ดนั่นแหละ แอ๊ดเขาเป็นคนชอบอ่าน..” แต่การอ่านอย่างเดียวก็ไม่พอ เทียรี่บอกว่า ต้องช่างสังเกตด้วย

งานชุดแรกของเที่ยรี่ที่ไม่ใช่คาราบาว จะเรียกว่างานเดี่ยวก็ไม่เชิง เพราะเป็นการร่วมงานกับอาจารย์ธนิสร์และน้าเป้า ในอัลบั้ม “ขอเดี่ยวด้วยคนนะ” ..ซึ่งทั้งสองคนนี้อาจจะพูดได้ว่า มีส่วนชักนำเทียรี่ให้มาพบกับคาราบาว ก็ได้ ในงานชุดดังกล่าว เทียรี่รับหน้าที่หลักด้านการเขียนเนื้อ หลังจากงานเผยแพร่ออกไปแล้ว ก็มีผลสะท้อนกลับมาว่า- ยังมีความเป็นคาราบาวอยู่สูงทีเดียว เที่ยรี่แบ่งรับแบ่งสู้และเปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์เต็มที่



“ไม่รู้สินะ ก็ว่ากันไป แต่มันเป็นอย่างที่ผมบอก
ผมอยู่กับ คาราบาว มานาน ..มันติดมาเอง ไม่รู้เหมือนกันนะ”


และที่เป็นจุดเด่นของเทียรี่ ก็คือ งานเดี่ยวของเขาหรือเพลงที่เขาร้องเมื่อครั้งอยู่กับ คาราบาว มักจะนำเสนอเกี่ยวกับ เรื่อง ‘ผู้หญิง’ เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ “นางงามตู้กระจก” เรื่อยมา “คอนเซ็ปต์นี้ จะเป็นของแอ๊ดเขาเป็นส่วนใหญ่..” เขาบอกต้นสายปลายเหตุ “เรื่องการเขียนเนื้อ การวางแนวต่างๆ นี่ แอ๊ดจะทำ ซึ่งเขาก็ทำได้ดี”

‘อิมเมจ’ มันจึงติดมาถึงตัวเที่ยรี่โดยตลอด แม้จะออกมาทำงานเดี่ยวแล้วก็ตาม..

“มีความรู้สึกว่าชอบเพลงเกี่ยวกับผู้หญิง เวลาเขียนขึ้นมานั้น ไม่ใช่เพื่อที่จะขายนะ แต่เขียนเพราะเรามีความเห็นอย่างนั้นจริงๆ” เขาย้ำจากส่วนลึก

นิตยสาร “สีสัน” เคยตั้งข้อสังเกตว่างานทุกชิ้นของ เทียรี่ จะมี ‘พ็อพเซ้นส์’ ติดอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่าใช่ เพราะเป็นความตั้งใจของเขา

“ถ้าเราทำดนตรียากเสียแล้ว มันก็คล้ายเป็นกำแพง คนก็จะหนีซึ่งมันไม่มีประโยชน์ หรือว่ามีก็น้อย..”








นางงามตู้กระจก - คาราบาว - เทียรี่ เมฆวัฒนา




อำนาจ ลูกจันทร์
‘เรียนดนตรีมาตั้งแต่ ๑๔
..แล้วจะให้ผมไปทำอะไร’


น้าเป้า..ถ้าไม่เล่นดนตรีจะทำอะไร!?
"ผมเรียนดนตรีมาตั้งแต่อายุ ๑๔ จะให้ผมทำอะไร !?"
น้าเป้าหรืออำนาจ ลูกจันทร์มือกลองคาราบาว ตอบคำถามอย่างฉาดฉานแกมยียวน


"น้าเป้า" อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคาราบาว มาตั้งแต่อัลบั้ม ท.ทหารอดทน เป็นสมาชิกอีกคนของคาราบาวที่ตกเป็นข่าวน้อยที่สุด และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนน้อยที่สุด แต่ด้วยความที่มีอายุมากที่สุดในวง จึงถูกเพื่อนๆ น้องๆ ในวงขนานนามว่า "น้า"


'อำนาจ' เป็นคนกรุงเทพ เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๙๒ ที่เขตประเวศ เรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนพระโขนง จากนั้นก็สอบเข้าดุริยางค์ทหารเรือ เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเสียเรียนต่อ เขาบอกว่าการเข้ามาเรียนในดุริยางค์ทหารเรือนี้ช่วยผ่อนเบาฐานะทางการเงินได้ดีมาก




"ผมเข้ามาเรียนไม่ถึงปีมีความรู้สึกว่า ถ้าใครส่งลูกมาเรียนที่นี่แล้วไม่ต้องเสียเงินเลย ไม่ต้องใช้เงิน เสื้อผ้าก็มีให้ใส่ อาหารก็มีให้กิน ที่นอนก็มี ที่พักก็มี จบมาทำงานได้เลย ความรู้ก็ได้หลายอย่างทั้งทางดนตรี วิชาทหารและวิชาสามัญ ก่อนหน้านี้เจตนาของผมก็ไม่คิดจะเรียนตรงนี้หรอก อยากจะเรียนให้เหมือนๆ คนทั่วไปเหมือนกัน แต่พ่อแม่ผมจน"


'อำนาจ' เข้าเรียนดุริยางค์โดยเลือกเรียนเครื่องเป่า ทฤษฎีดนตรี และวิชาทหารควบคู่กันไปรวมทั้งหมด ๕ ปี จากนั้นก็รับราชการเป็นอาจารย์สอนดนตรีประเภทเครื่องกระทบอีก ๘ ปี ถ้ารวมอายุราชการด้วยก็รวมใช้ชีวิตภายใต้ยูนิฟอร์มของทหารเรือถึง ๒๔ ปีเต็ม แล้วลาออกเด็ดขาดพร้อมกับมียศ "จ่าเอก"

'อำนาจ' ผ่านประสบการณ์ด้านดนตรีมาโชกโชน
เขาใช้เวลาว่างจากงานราชการมาเล่นดนตรีตามคลับบาร์เวลากลางคืนหารายได้พิเศษ และเป็นมือปืนรับจ้างในห้องอัดในช่วงบ่าย มีวงจรชีวีตเช่นนี้อยู่ถึง ๑๕ ปีเต็ม ก็ทิ้งชีวิตนักดนตรีกลางคืนประมาณปี ๒๕๒๕ หันมาเล่นดนตรีอาชีพ

"ไม่ได้เบื่อดนตรีหรอกนะ เพราะผมเบื่อบรรยากาศมากกว่า ถึงเวลาก็ต้องมาทำงาน เวลามันฟิกซ์ไปหมด มันมีความรู้สึกว่าเราไปเล่นดนตรีเพื่อให้มันจบไปวันๆ"


หลังยุติชีวิตนักดนตรีกลางคันไว้แค่นั้น
ชีวิตในเวลาต่อมาก็ผ่านเข้า-ออกวงดนตรีต่างๆ อีกหลายสิบวง ขณะเดียวกันก็เป็นนักดนตรีรับจ้างในตำแหน่ง "มือกลอง" ตามห้องอัดต่างๆ

"ผมอัดเสียงมาตั้งแต่สมัยรวงทอง ทองลั่นทม, ศรีไศล สุชาติวุฒิ, จินตนา สุขสถิตย์, สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธ์, เพลิน พรหมแดน-ในยุคเพลงพูดก็เคยอัด ยุคนั้นอัดกัน ๒ แทรค อย่างของ-ดอน สอนระเบียบ สมัยที่เป็นพี.เอ็ม.ไฟว์.ผมก็เป็นคนตีกลองทั้งหมด พวกเพลง 'เก้าล้านหยดน้ำตา'..อะไรพวกนี้ ก็มี 'พี่ปราจีน ทรงเผ่า'..เป็นคนทำดนตรีให้"


เขาย้อนความหลังว่า..สมัยก่อนรายได้ค่อนข้างดีพอสมควร เนื่องจากมือกลองยุคนั้นมีน้อยประมาณ ๓ คน "มีผม.. 'พี่มังกร' แล้วก็ 'แดง โลลิต้า' ..ทั้งเพลงลูกทุ่งหมอลำนี้เล่นหมดเลย พวกเราไม่มีประจำห้องอัดที่ไหน แล้วแต่เค้าจะเรียกตัวไป บางวันต้องตระเวนกันถึง ๓ ห้อง เมื่อก่อนผมทำงานเช้า ..บ่ายก็อัดเสียงถึงค่ำก็ไปเล่นบาร์ เล่นบาร์เสร็จก็ไปอัดเสียงต่อ"

อะไรทำให้น้าเป้าสนใจตีกลอง?
ตอบแบบไม่ต้องคิดว่า...

"ช่วงที่ผมเรียนดนตรีประมาณปี ๒๕๐๗ สมัยก่อนกีตาร์มันยังไม่เกิด ในเมืองไทยยังไม่มีใครเล่นกีตาร์ กีตาร์นี่จะมีใช้เฉพาะในวงบิ๊กแบนด์ของทางราชการเท่านั้น ภายนอกไม่มีใช้หรอก ไอ้ครั้นเราอยากเล่นกีต้าร์ก็ไม่ได้ จึงเลือกตีกลองดีกว่า..ก็เลยเป็นมาแต่ต้น"


ชีวิตนักดนตรีของ "อำนาจ ลูกจันทร์" มาสิ้นสุดที่ห้องอัดเสียง 'อโซน่า โปรโมชั่น'

ทำงานให้นักดนตรีในสังกัดสมัยนั้นหลายคน กระทั่งได้พบคาราบาวในที่สุด "ตอนนั้นเขาจะจ้างให้ผมไปอัดเสียงที่ไหนก็ต้องไป อโซน่า-มันคือห้องอัด แต่บังเอิญมันจำหน่ายเทปด้วย ผมไม่รู้เรื่องบริษัทของเขาหรอก ผมมาอยู่ที่นี่ก่อนแอ๊ดตั้งหลายปี เจอกันเป็นปีกว่าแล้ว..
แอ๊ดจึงชวนเข้าเป็นสมาชิกวง"





'อำนาจ' เข้าร่วมงานกับคาราบาวครั้งแรก
ในฐานะนักดนตรีรับจ้างช่วงออกทัวร์โปรโมตอัลบั้ม "วณิพก" ช่วงเดียวกับ 'เทียรี่-ไพรัช-ธนิสร์' ที่เข้ามาเสริมวง เป็นจังหวะเวลาที่ 'เล็ก-ปรีชา' และ 'อนุพงษ์' ติดภารกิจทัวร์อเมริกากับ 'เดอะเพรสิเดนท์' "ตอนนั้นคาราบาวไม่มีนักดนตรี..เหลือแต่แอ๊ดกับเขียว ๒ คน ผมยังจำได้เลยว่า-เราถ่ายมิวสิควิดีโอชุด 'วณิพก' เสร็จแล้วก็ตีรถไปเล่นดนตรีต่อที่สุรินทร์ ชีวิตเมื่อก่อน มันอดๆ อยากๆ เมื่อก่อนต้องแต่งสูทตีกลองในคลับในบาร์ พอมาอยู่แบบนี้มันก็อิสระดี ไม่ต้องมาถูกกำหนดจากเจ้าของบาร์ เรื่องการแต่งตัว มาที่นี่เหมือนเราได้ปลดปล่อยไปจากสังคมหนึ่ง



ปี ๒๕๓๒ “น้าเป้า” แยกตัวจากคาราบาว
ทำงานร่วมกับ เทียรี่-ธนิสร์ ในอัลบั้ม "ขอเดี่ยวด้วยคนนะ" โดยรับหน้าที่ดูแลด้านกลองเครื่องเคาะ-เพอร์คัสชั่น เพียงชุดเดียวก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทาง เทียรี่ กับ อาจารย์ธนิสร์ไปทำอัลบั้มเดี่ยวตามแนวทางความต้องการของตัวเอง ส่วน 'อำนาจ' เดินทางไปช่วยงานดนตรีของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ที่อเมริกา และถือโอกาสทำเวิร์คช็อพไปด้วยในตัว

ทุกขณะจิต.."อำนาจ ลูกจันทร์" ไม่เคยคิดจะทิ้งดนตรี
เมื่อแยกจาก คาราบาว มาแล้ว ..เขายอมรับว่าเคยคิดจะฟอร์มวงขึ้นมาเหมือนกัน "ผมคิดมาตั้งหลายหนแล้วว่า ถ้าคาราบาวไม่รวมกันคราวนี้อีก ผมคิดไว้ว่าจะไม่เล่นเพลงแนวนี้แล้ว ผมจะไปของผมอีกแนวที่เราชอบ"

'ฟิวชั่นแจ๊ซ'เป็นแนวที่ "น้าเป้า" โปรดปราน

"นั่นน่ะแหละ..อยากเล่นเพลงอย่างนี้ พักหลังๆ เจอกับพรรคพวก ก็ชวนๆ กัน เรามารวมกันดีกว่า สมัยนี้มันขายได้สมัยก่อนไม่มีคนฟัง มีแต่นักดนตรีมาฟัง หลังจากแยกจาก คาราบาวก็เล่นเพลงเดิมๆ สมัยที่เล่นกันเมื่อก่อนนี่แหละ เพลงแนวนี้มันหาคนเล่นยาก ไม่มีคนเขาอยากเล่นหรอกมันเหนื่อย"




18 พฤศจิกายน 2551

๖ สมาชิกยุคบุกเบิก (๒)


อ๊อด-กระถาง กับ ขลุ่ย-ธนิสร์

อ๊อด-อนุพงษ์ ประถมปัทมะ
“ผมเป็นนักดนตรีธรรมดา”


อ๊อดเข้าร่วมกับ คาราบาว ตั้งแต่อัลบั้มที่ ๒ “แป๊ะขายขวด” ในฐานะมือเบส “ผมชอบเพลงแนวฟังกี้ พอมาอยู่ คาราบาว ใหม่ๆ ก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนกัน เพราะเขาจะฟังแต่คันทรีร็อก ..ดิ อีเกิ้ลส์ แต่ผมฟังอีกแบบ..”

อ๊อดสารภาพถึงความรู้สึกแรกๆ เมื่อครั้งเข้าร่วมงานกับคาราบาว

“ตอนนั้น-มันชอบอย่างนั้น ชอบเพลงเต้นรำ ...แต่อย่างช่า ช่า ช่า นี่ เชื่อหรือเปล่าว่า เพลงวณิพกนี่ ทำเอาผมแทบตาย เขามีโน้ตมาให้ พอเอามากาง-ตายห่า จังหวะ ช่า ช่า ช่า กูจะเล่นยังไงวะ ไม่ค่อยได้เล่น ย้อนไปฟังดูก็แล้วกัน ..วณิพกมันจะแปลกๆ นะ”

อนุพงษ์ เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๙๔ แต่ครอบครัวเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม จากนั้นก็เข้าอุเทนถวายรุ่นก่อนหน้าแอ๊ดและเล็ก ซึ่งช่วงนั้นไม่เคยเจอะเจอกันมาก่อนเลย ก่อนเข้ามาคาราบาว อ๊อดทำงานอยู่ในสตูดิโอหลายแห่ง เคยผ่านงานด้านเพลงประกอบภาพยนตร์ เคยร่วมงานกับ “ท่านมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล” และ ช.อ้น ณ บางช้าง (เดอะ ฟ็อกซ์) ในภาพยนต์ไทยเรื่อง “เทวดาเดินดิน” และครั้งสุดท้ายเล่นเบสอยู่กับ “เดอะเพรสซิเดนท์” วงเดียวกับ-เล็ก “ผมทำงานมาด้วยกันกับเล็ก ตั้งแต่เล่นกับ เดอะ เพรสซิเดนท์ ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ เล็กเป็นคนชวนผมให้มาเล่นวงคาราบาว หลังจากที่เขาอัดชุดแรก-ลุงขี้เมากันไปแล้ว เล็กเอาเทปชุดแรกมาเปิดให้ฟัง ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักแอ๊ด ..ฮึ้ย! เพลงนี้แปลกดีโว้ย กล้าพูดกล้าแสดงออก แนวดนตรีก็คล้ายกับที่เราเล่นอยู่ เราชอบ..”

อ๊อดเคยเล่นดนตรีอยู่ตามแคมป์ต่างๆ เพลงส่วนใหญ่ที่เล่นก็เป็นเพื่อชีวิตอยู่แล้ว ต่างกันแต่เป็นเพลงภาษาอังกฤษเท่านั้น หลายๆ เพลงพูดถึงยาเสพติด พูดถึงรัฐบาล พูดถึงนักรบ พูดถึงทหาร พูดถึงผู้หญิง ลักษณะคล้ายกับคาราบาว สำหรับแนวเพลงที่เดอะเพรสซิเดนท์เล่นนั้น สมัยก่อนยึดแนวฟั้งกี้ เพลงเต้นรำเป็นหลัก โดยส่วนตัวอ๊อดเอง ก็ฟังเพลงแนวนี้ ครั้นเข้ามา คาราบาว อ๊อดบอกว่า “ผมยังติด.. ก็เหมือนคนอีสานนั่นแหละ พอมาอยู่กรุงเทพฯ สำเนียงมันก็ติดอิสานมา พอเข้าคาราบาว เผลอๆ ก็เล่นฟั้งกี้ แต่คาราบาวเขาเป็นคันทรี่ร็อก มันก็ใช้งานผิดประเภทเหมือนกัน เรารู้ตัวว่า-สำเนียงมันต้องค่อยๆ แก้ มันแก้ลำบาก มันติดแนวทางที่เคยเล่น แต่ก็เล่นกันมาเรื่อย..”

สมัยแรกๆ นั้น คาราบาวตระเวนเล่นตามสถาบันการศึกษาต่างๆ “เล็กบอกว่า เล่นตามสถาบันเฉพาะตอนเย็น วันที่เราหยุดเล่นประจำ เราก็มาแกะเพลงคาราบาวในวันหยุดนี่แหละ พอเริ่มซ้อมก็มารู้จักแอ๊ด-รู้จักเขียว” อ๊อดร่วมทัวร์กับคาราบาวตั้งแต่อัลบั้มที่ ๒ เรื่อยมา กระทั่งแอ๊ดพาวง เข้าสังกัด “อโซน่า” ออกอัลบั้ม “วณิพก” และ “ไลฟ์” (แสดงสด) ..อ๊อดกับเล็กก็ต้องตระเวนทัวร์อเมริกากับ เดอะ เพรสซิเดนท์

หลังกลับจากอเมริกา เล็กก็เข้าคาราบาวเต็มตัว ส่วนอ๊อดยังเล่นต่อกับ เดอะ เพรสซิเดนท์ “ถ้าเราไม่เล่นอีกคน เพรสซิเดนท์ก็ไม่เต็มวง มันก็กระไรอยู่ เพราะสัญญาที่แอมบาสเดอร์คลับมันค่อนข้างชัดเจน โอ.เค. เรายังเล่นกับเพรสซิเดนท์ กระทั่ง คาราบาวอัดชุด ‘เมดอินไทยแลนด์’ เสร็จแล้ว เขียวกับเล็กก็มาคุยสองสามครั้งว่า คาราบาวมีโครงการจะทำสตูดิโอ เพราะเมื่อก่อนเห็นเราก็ทำสตูดิโออยู่ที่ ศรีกรุง-อโศก เราทำงานในสตูดิโอมาตั้งนานแล้วละเราชอบอยู่แล้วแบบนี้ ..จึงคิดว่า-เออดีนี่หว่า เราชอบอยู่แล้ว เราก็ออกจากเพรสซิเดนท์ ประมาณต้นปี ๒๕๒๘ ก็มาเล่นกับคาราบาวเลย”

แต่มือเบสของคาราบาวขณะนั้นคือ "ไพรัช เพิ่มฉลาด" “เราก็ไม่รู้ว่าทำไมพี่รัชไม่เล่นต่อ หรือว่าเขาไม่ให้เล่น หรือเล่นไม่ได้ เราไม่รู้นะ เราไม่รู้เรื่องจริงๆ .. ถ้าถามว่าทำไมพี่รัชออกไป-ไม่รู้ว่ะ รู้แต่ว่าเขาให้มาเล่น เราดิวส์กับคนที่เหลือมากกว่า”

การทำงานในคาราบาวนั้น อ๊อดบอกว่าทุกๆ คนจะช่วยกัน แม้แต่ไลน์เบสในส่วนความรับผิดชอบของเขา

“เบสหลายไลน์มีหลายคนคิด บางทีเล็กคิด เทียรี่คิด เพราะบางทีเพลงของเขาทำมาคิดมา เราก็มาโมดิฟายให้เข้ากัน บางเพลงยังไม่มีเสียงร้อง แต่เราอัดเบสก่อน พอเขามาร้อง-ถ้าเบสมันกัดกับเสียงร้อง ก็ต้องอัดใหม่ ถ้าไม่เข้ากับกีตาร์ก็ต้องอัดใหม่..”




เรื่องเบสนั้น-ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ปัญหาของอ๊อด หากแต่เป็นเรื่องที่หนักอกจริงๆ คือ การร้องเพลง

“โอ้โฮ !! ทรมานมาก ถ้าให้ผมร้องเสียงประสานนี่-ได้ เพราะผมเล่นเพลงฝรั่งมาก่อน แต่เสียงไม่ดีถึงขั้นเป็นนักร้องนำได้หรอก มันทรมานคนฟัง ความรู้สึกมันบอกไม่ถูกเหมือนกัน ..เพลงแรก ‘กระถางดอกไม้’ ผมฟังเนื้อแล้วมันก็โอเค เนื้อหาคำร้องนี่ช่วยได้”

หลังจากนั้น อ๊อดก็รับหน้าที่ร้องอีกครั้งอย่างทรมานทรกรรมในเพลงที่สอง คือ “ลุงหริ”

ปี ๒๕๓๒ สมาชิกคาราบาวแต่ละคนแยกตัวไปทำงานเดี่ยว เหลือเพียงแต่ ‘อ๊อด’ คนเดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้แยกไปไหน “มันไม่ใช่ผม..” คือเหตุผลสั้นๆ ถามต่อว่า “ไม่คิดออกอัลบั้มเดี่ยวโชว์เบส อะไรทำนองนั้น เหมือนมือเบสระดับโลกของฝรั่งบ้างหรือไร!?” “ผมไม่ใช่ครู ผมเป็นนักดนตรีธรรมดาๆ ความรู้ความสามารถของผมมันไม่พอ วิธีการเล่นของผมเป็นนักดนตรี ไม่ใช่อาจารย์สอนดนตรี หลายๆ คนถามผมว่า ทำไมไม่เปิดโรงเรียนสอนดนตรี ผมบอกว่า-ผมไม่ได้เรียนมาเพื่อสอน แต่ผมเรียนมาเพื่อทำงาน”

“ไม่ใช่เรียนมามาก พอรู้มากก็ทำตัวเป็นอาจารย์ แล้วสอนคนโน้นคนนี้ ..สอนไปผิดๆ ตายเลย ผมวอรี่ตรงนี้ เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญ บางทีมันรู้ไม่หมดแล้วสอนไปผิดๆ มันก็ผิดไปตลอด ..แต่ถ้าให้แนะนำน่ะ-ได้เลย”






กระถางดอกไม้ให้คุณ - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ - อ๊อด คาราบาว





ขุนพลขลุ่ยไทย..ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี

“ผมใกล้ชิดกับขลุ่ยมาตั้งแต่เด็ก..” ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี กล่าวถึงความผูกพันของเขากับ “ขลุ่ย” เครื่องดนตรีที่ถนัดเล่นมากที่สุด “สมัยเด็กๆ ผมอยู่บ้านนอก ไฟฟ้ายังไปไม่ถึง เครื่องดนตรีที่นิยมมากในสมัยผมก็คือขลุ่ย อันละไม่กี่บาท ก็ซื้อมาเล่นมาเป่า-ตรงนั้นก็เลยติดมา..”
เมื่อเข้าร่วมงานกับคาราบาว ..ขลุ่ยไทย ก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขา



ธนิสร์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่จังหวัดสิงห์บุรี เรียนจบด้านดนตรี สากลรุ่นแรกมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แล้วไปเป็นครูสอนดนตรีอยู่พักใหญ่ที่ วิทยาลัยครูจันทรเกษม ก่อนจะออกมาเล่นดนตรีกลางคืน ผ่านวงดนตรีชั้นนำของเมืองไทยมาหลายวง ตั้งแต่วงดนตรีของอดีตราชาลูกทุ่งผู้ล่วงลับ “สุรพล สมบัติเจริญ” กระทั่งวงสตริงแห่งยุค อาทิ เดอะฟ็อกซ์ , แบ๊พติค, ช็อคโกแลต เป็นต้น




ธนิสร์เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เข้าร่วมแตรวงตามงานศพงานแห่นาค

“ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๐ ขวบ ได้ค่าจ้างก็ราวๆ ๕ บาท สนุกดี บางทีก็ตีฉิ่ง เล่นงานแบบนี้บ่อยเหมือนกัน ที่สิงห์บุรีแค่นี้เอง” ในวัยหนุ่ม..เมื่อจบม.๖ ก็เข้าผจญชีวิตในกรุงเทพฯ เล่นดนตรีตามบาร์ ตามความฝันของนักดนตรีหนุ่มๆ สมัยนั้น “ช่วงแรกที่เล่นเพราะชอบอย่างเดียว พอมาถึงช่วงมัธยมต้น ก็รู้แล้วว่าจะต้องเอาดีทางดนตรีแล้ว เพราะไปไหนต่อไหนมันเป็นเงินทั้งนั้น ผมไม่มีเงิน ..พ่อเป็นภารโรง แม่ก็ชาวนา ต้องช่วยตัวเอง เรียนไปด้วยเล่นไปด้วย..”


อาจจะแปลกใจว่า..ทำไมธนิสร์ซึ่งผูกพันกับดนตรีไทย แต่ไหง มาเรียนดนตรีสากล

“จริงๆ แล้วผมเป็นคนยุค ‘60 นั่น ..ชอบหมดนะครับ คลิฟ ริชาร์ด เดอะ บีทเทิ้ลส์ เอลวิส ..ไม่ใช่ว่าสนใจดนตรีไทยแล้วผมเล่นเฉพาะตรงนี้อย่างเดียว ผมสนใจแนวเพลงอย่างนี้ด้วย สมัยที่เรียนนั่น ฟังประเภทคลาสสิกเลย บังเอิญผมเป็นคนครึ่งๆ เรื่องดนตรีน่ะ ..ดนตรีไทยก็เล่นมาเยอะ ดนตรีสากลก็เล่นมามาก เลยพอจะมองออกบ้าง..”


เมื่อคาราบาวแยกย้ายกันไป..ธนิสร์ก็ไปจับกลุ่มกับ 'เทียรี่และน้าเป้า' ทำงานด้วยกันอยู่สองสามอัลบั้ม แล้วก็ไปรับจ๊อบทำดนตรีในงานต่างๆ กระทั่งตั้งร้านขายขลุ่ย และทำงานเดี่ยวของตนเอง ซึ่งเน้นในส่วนของการโชว์ขลุ่ย-แซกโซโฟน และเครื่องเป่า มีทั้งงานระดับติดดิน ไปจนถึงขั้นไฮโซฯ



พอมีการรวมตัวกันทำงานเฉพาะกิจของคาราบาว อจ.ธนิสร์..ก็หาโอกาสมาร่วมด้วยอยู่เสมอๆ






ความฝันอันสูงสุด - ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี

ชื่อเพลง : ความฝันอันสูงสุด
อัลบั้ม : ความฝันอันสูงสุด
ศิลปิน : อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี
ประเภท : อัลบั้มภาคพิเศษ
อาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป่าเพลงนี้ด้วยขลุยพญางิ้วดำ ไพเราะมาก


12 พฤศจิกายน 2551

๖ สมาชิกยุคบุกเบิก (๑)


และจากนี้ไป..ก็จะได้สัมผัสบางเสี้ยวส่วนของอีก ๖ สมาชิกยุคบุกเบิก ที่สร้างชื่อตรึงตาไว้ในความทรงจำว่าเป็น "คาราบาว" แม้วันเวลาจะผ่านไปเป็นสิบๆ ปี.. เหล่าแฟนพันธุ์แท้ก็มีแต่ภาพเขาทั้ง ๗ คนนี้อยู่ในอณูสมองตลอดมา

เขียว คาราบาว
กับ 'เขียว มรกต'


สำหรับ ‘เขียว’ กับการเริ่มต้นในคาราบาว นอกจากเล่นกีตาร์ยุคแรกๆ แล้ว-เขาก็ช่วยแอ๊ดร้องด้วย แม้จะร้องมาหลายเพลง แต่เพลงที่เป็นที่กล่าวขานจริงๆ ก็เห็น จะเป็นเพลง “สัญญาหน้าฝน” ในอัลบั้ม “ห้ามจอดควาย”







เขาบอกถึงเหตุที่เพลงนี้ดังขึ้นมาได้ก็เพราะว่า
“แอ๊ดมีความสามารถพิเศษ เขามองคน แล้วเขียนเพลงให้คนอื่นได้ดี อย่างเพลง ‘สัญญาหน้าฝน’ ที่เขาเขียนให้ผม แล้วให้ผมร้องออกมาแบบซื่อๆ มันเป็นลักษณะของเพลง ที่ออกมาซื่อๆ เขามักจะกำหนดอะไรต่อมิอะไร ได้ดีตรงนี้”

หลังจากเริ่มงานเดี่ยวในอัลบั้ม “ก่อกวน” ฉายาเขียวก็เปลี่ยน ไปเป็น “เขียว มรกต” ตามชื่อวงแบ็คอัพของเขา

..เขียวบอกว่า การทำอัลบั้มเดี่ยวนั้น เป็นความคิดที่ก่อขึ้นมานานแล้ว

“ผมอยากจะลองดู อยากทำในสิ่งที่เราถนัด หรือเรียกว่าชอบน่ะ..”

บังเอิญได้แจมอยู่กับนักดนตรีในห้องบันทึกเสียงเซ็นเตอร์สเตจ ของคาราบาว อาทิ “วงตาวัน”-จอมณรงค์ วรบุตร ..หลายๆ คนบอกว่า-เอาซิ ก็เลยลองดู..

“แอ๊ดช่วยแต่งมาให้หนึ่งเพลง คือ ‘ไม่เคย’ ซึ่งกลายเป็นเพลงดังที่สุดในเดี่ยวชุดแรก ส่วนอีกหลายเพลงเขาเขียนเนื้อเอง ทั้งๆ ที่อยู่คาราบาวนั้น ไม่เคยเขียนมาก่อน “

“ลองดู แต่ต้องบอกก่อนเลย เพราะอันนี้เป็นครั้งแรกที่ผมลองดู ตอนแรกก็ไม่แน่ใจตัวเองเหมือนกัน”




ส่วนนักดนตรีในห้องอัดส่วนใหญ่นั้น ได้วง “ตาวัน” มาช่วย แต่เวลาแสดงบนเวทีจะแตกต่างจากเพื่อนๆ วงอื่น ซึ่งใช้นักดนตรีอาชีพที่ค่อนข้างเชี่ยวชาญ แต่เขียวกลับใช้นักดนตรีกลุ่มใหม่สดๆ ซิงๆ นั่นคือวง “มรกต”

“นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ นี่ ผมมีความรู้สึกว่ามีพื้นฐานดีขึ้น เราอยากให้โอกาสเขา เขาขาดก็เพียงแค่ประสบการณ์และชั่วโมงบินเท่านั้นเอง เรื่องความรู้แล้วก็ฝีมือของเขา ผมว่าไม่เลวหรอก..”








สัญญาหน้าฝน - กิรติ-เขียว คาราบาว



เล็ก-ปรีชา ชนะภัย
หน้าหยกหนวดงามฉายา "กีต้าร์พูดได้"



“เล็ก คาราบาว” หรือ ปรีชา ชนะภัย เข้าร่วมกับคาราบาว ตั้งแต่วินาทีแรกที่แอ๊ดและคาราบาว ถูกไล่ออกจากการเล่นประจำในโรงแรมแอมบาสเดอร์ ปรีชาเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๘ บิดาเป็นทหารอากาศ ส่วนมารดาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เรียนชั้นอนุบาลที่ โรงเรียนช่างอากาศบำรุง จบชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี แล้วมาต่อช่างก่อสร้างอุเทนถวายจนจบ


เริ่มเล่นดนตรีในตำแหน่งกีตาร์ มาแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมที่เขมาฯ เป็นนักดนตรีประจำโรงเรียน ออกงานของโรงเรียนบ่อย เมื่อมาอยู่อุเทนฯ และได้เจอกับแอ๊ด การรวมวงจึงเกิดขึ้นอย่างไม่มีปัญหาในรั้ววิทยาลัยนั่นเอง ใช้ชื่อวง “นิว คัมพานี” เมื่อ แอ๊ดไปเรียนต่อที่ฟิลิปปินส์ วงดนตรีที่เคยร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาก็ต้องแยกสลาย เล็กย้ายไปเล่นกับวงโน้นวงนี้ ตามผับตามบาร์ และครั้งหนึ่งยังเคยร่วมงานกับ “เทียรี่ เมฆวัฒนา” กระทั่งมาหยุดอยู่ที่วง “เดอะ มิชชั่น” แล้วเข้ามาสมทบกับ “เดอะ เพรสซิเดนท์” เป็นวงสุดท้าย ..ก่อนจะเข้าร่วมกับคาราบาว..

เขาจึงเป็นคนเล่นดนตรีมาตลอดชีวิต


“ผมเล่นมาตั้งแต่สมัยยังไม่แต่งเพลงเองเลย ตั้งแต่เล่นบาร์แล้วเล่นเพลงฝรั่งก็ก็อปปี้เพลงฝรั่ง และก็เล่นตามบาร์ เล่นเพลงเต้นรำ เจ้าของบาร์ไม่ค่อยชอบวงผมเท่าไหร่ เพราะว่าวงผม (มิสชั่น) ชอบเล่นเพลงที่คนไม่ค่อยได้ยินเหมือนเพลงแร็ปสมัยนี้ สมัยก่อนเล่นฟังกี้ เล่นอะไรฟังยากๆ เต้นรำก็เต้นยาก.. วงผมเล่นเพลง-ไม่ตามตลาด”


เล็กเข้าร่วมกับคาราบาว หลังจากอัลบั้ม "ลุงขี้เมา" ออกวางตลาดไปแล้วระยะหนึ่ง โดยไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดเท่าใดนัก จนแอ๊ดร่ำๆ ว่า-จะเลิกวง แต่เล็กซึ่งเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่กับแอ๊ดมาก่อน ก็ให้กำลังใจเพื่อนฝูงให้ยืนหยัดทำวงคาราบาวต่อไป โดยตัวเขาเองก็จะขอเข้าร่วมวงด้วย แม้ตอนนั้นเล็กจะยังอยู่กับเดอะเพรสซิเดนท์ ก็ตาม

นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน วันที่เล็กไปหาแอ๊ดที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ วันเดียวกับที่คาราบาวถูกตะเพิดออกมาจากบาร์นั่นเอง และเขาก็เข้าร่วมกับคาราบาว ในอัลบั้มที่ ๒ “แป๊ะขายขวด” โดยเขามีส่วนทำดนตรีและร้องด้วย จากนั้นมา เล็กก็ถูกวางบทบาทให้เป็นผู้ดูแลดนตรีของคาราบาว ร่วมกับแอ๊ด ซึ่งรับหน้าที่หลักในการเขียนเนื้อเพลงไปด้วย ทุกเพลงของ คาราบาว จะมีสำเนียงกีตาร์ของชายหนุ่มคนนี้สอดแทรกอยู่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของวง

กล่าวสำหรับ “ดนตรีที่มีวิญญาณ” อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกจากฝีมือของเขา เล็กเหมาทั้งเขียนเนื้อ ทำทำนอง ทำดนตรีเอง เขาบอกว่าเป็นสิ่งที่เขาคิดไว้นานแล้ว

“ถ้าผมออกโซโลอัลบั้มเมื่อไหร่ ก็ต้องทำเองทั้งหมด ผมตั้งใจไว้แบบนี้..”

มือกีตาร์ร่างเพรียว ยอมรับว่างานชุดแรกนี้มีข้อด้อยมาก ที่มองเห็นคือ

“ในเรื่องการเขียนเนื้อร้องค่อนข้างจะ.. ใช้คำว่าอะไรดีล่ะ บางทีมันก็เข้าใจยาก”

เขาบอกว่า-ผ่านการฝึกฝนเรื่องการเขียนเนื้อเพลงมาพอประมาณสมัยเล่นดนตรีแรกๆ

“บางทีเราวางคอนเซ็ปต์ที่จะเขียนเรื่องนี้ มีทำนองที่แต่งขึ้นมาแล้ว ลงตัวพอดี มันก็ไปกันได้ แต่มันก็มีบ้างทีที่เขียนไปแล้ว มันติดอะไรบางอย่าง นึกไม่ออกมั่ง อะไรมั่ง งานศิลปะบางทีมันก็บอกยาก”


หลายคนมองว่า การเขียนเนื้อเพลงของเล็ก ยังดิบและไม่สู้สละสลวยนัก ซึ่งจุดนี้-เขาเองก็ยอมรับว่า เป็นเช่นนั้นจริง แต่เล็กย้ำว่า นั่นไม่ใช่ปัญหาของเขาที่ต้องวิตก




“ผมว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรอก เราต้องแก้ไขมันทุกอย่าง อย่าว่าแต่ผมเป็นนักดนตรี แล้วใครมาบอกดนตรีของผมดีหรืออะไร ..ผมไม่เคยฟังคำวิจารณ์เหล่านี้เลย มันไร้สาระน่ะ .. บอกกันตรงๆ ผมรู้ตัวผมเองว่า ดีหรือด้อย..”
เล็กระบุทัศนะของตน

สำหรับข้อมูลในการเขียนเพลง เล็กเผยว่าส่วนใหญ่เป็นข้อมูลใกล้ตัว นี่เอง

“..ผมจะเอาเรื่องที่ใกล้ๆ ตัว ได้รู้ได้พบเห็นด้วยตัวเอง มาเขียนเป็นเพลง”


ในอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก-คอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม มีเนื้อหามุ่งสื่อสารกับเด็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าสังเกตเพลงที่เล็กเลือกร้องในอัลบั้มของ คาราบาว ..เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับเด็กเป็นส่วนมาก หรือไม่ก็หนักไปทางปรัชญา เช่น

“ลอยหาย คนเก็บฟืน เฒ่าทะเล” หรือ “ลูกหิน” มือกีตาร์หนุ่มใหญ่บอกว่า สาเหตุมันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาด้วย

“ผมผ่านชีวิตมาจากครอบครัวที่ยากจนมาก แล้วก็อยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่มันไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่..”

แต่นั่นไม่เกี่ยวกับการขาดความอบอุ่นของครอบครัว

“ความอบอุ่นผมมี ๑๐๐ % ฮะ โดยคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยกัน จนคุณพ่อเสียไป ไม่มีปัญหาเรื่องการหย่าร้าง พี่น้องก็อบอุ่นกันดีอยู่แล้ว แต่มีปัญหาเรื่องความยากจนเท่านั้นเอง แล้วเราได้อยู่ในแวดวงที่เค้าเรียกว่าอะไรล่ะ ..เอ้อ-ในสังคมที่เพื่อนบ้านจนมาก ยิ่งหนักเข้าไปอีก สภาพต่างๆ มันจึงได้เข้ามาเป็นประสบการณ์”

เขาเชื่อว่าเด็กๆ ถือเป็นรากฐานแรกของชีวิต

“เป็นการตอกเสาเข็ม..เป็นอะไรพวกนี้ ผมเน้นในจุดนี้มากกว่า” สำหรับอัลบั้มเดี่ยวแต่ละชุดที่ทำออกมา เล็กย้ำว่า “ผมไม่ได้มองว่าจะไปแข่งอะไร หรือ จะไปเอาใจตลาด ผมไม่สนใจ ผมทำงาน –ผมอยากทำดนตรีของผมให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้นเอง” งานแต่ละชิ้นที่ออกไป ก็เหมือนกับภาพถ่าย “อีกสักประมาณ ๒๐ ปี เราเอาภาพนั้นมาดู เราก็จะรู้ว่า-ตอนนั้นเราเป็นอย่างไร มันรู้สึกได้ และเพลงก็เหมือนกัน..”




10 พฤศจิกายน 2551

แอ๊ด-เขียว-ไข่ ในนาม "คาราบาว"



แอ๊ด เขียว ไข่ ในนาม "คาราบาว" รวมตัวกันอีกครั้ง

เข้าเล่นประจำที่บาร์และห้องอาหารต่างๆ เรื่อยมา ตั้งแต่ “เรด แลมป์” ใต้ถุนโรงภาพยนต์ออสการ์ โรงแรมแมนดาริน โรงแรมวินเซอร์ และคอฟฟี่ช็อพหลายแห่ง หลังสุดเล่นประจำอยู่ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ โดยเล่นเพลงสากลเหมือนเมื่อครั้งอยู่ที่ฟิลิปปินส์

ระหว่างนั้น ยืนยงได้รวบรวมเพลงที่ตัวเองเคยเขียนเก็บไว้เมื่อครั้งอยู่ที่ฟิลิปปินส์ และขอบางเพลงมาจากเพื่อนเข้าห้องบันทึกเสียงทำอัลบั้มแรกกับเขียว และ “สุเทพ ถวัลย์วัฒนกุล” โดยใช้วง “โฮป” ของสุเทพเป็นแบ็คอัพ ในสังกัด “พีค็อกสเตอริโอ”

“ชุดแรกนี้ ผมได้เพื่อนๆ มาช่วยเล่น เพลงพวกนั้นผมก็แต่งขึ้นมาเอง ขอเพื่อนมา ๒-๓ เพลง ช่วงนั้นดนตรีของผมยังไม่พัฒนาในเรื่องของความคิดอ่าน ยังมีการลอกเพลงของฝรั่ง ลอกเพลงฟิลิปปินส์อยู่บ้าง”
ยืนยงสารภาพตามตรง

ชุดแรกก็โดนห้ามเปิดเลย !!

“เพลงแรกเลย..ลุงขี้เมา !!” ยืนยงตอบ
“ตอนนั้นผมยังเงียบนะฮะ บทเพลงยังเงียบๆ อยู่ นักจัดรายการโทร.มาบอกกับผม
..เฮ้ย ! เพลงนี้ออกไม่ได้นะ 'ลุงขี้เมา'
..ทหารเขาห้าม
..ผมก็บอกเขาไปว่า ผมไม่รู้เหมือนกัน แล้วผมจะทำให้มันเบาขึ้น
..ด้วยวันเวลาแล้วก็ปรากฎการณ์ทางสังคม สัจจะในสังคมก็ได้พิสูจน์ให้คนในแผ่นดินนี้ได้เห็นมากขึ้นว่า ความถูกต้องคืออะไร..”

ขณะออกอัลบั้มแรกนั้น “คาราบาว” ยังเล่นประจำอยู่ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ แต่ไม่นานก็ถูกไล่ออก-ถูกไล่ออกวันเดียวกับที่ “เล็ก-ปรีชา ชนะภัย” มือกีตาร์หนุ่มจาก "เดอะ เพรสซิเดนท์" เข้าไปฟังยืนยงและเพื่อนเล่นดนตรี แล้วขอให้ยืนยงร้องเพลง “ลุงขี้เมา” กับ “หนุ่มสุพรรณ” ให้ฟังพร้อมแขกเหรื่อคนอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทางผู้จัดการบาร์ต้องขอร้องให้พวกเขาเลิกเล่นในวินาทีนั้น

เพราะ ‘ยืนยง’ ฝืนกฎของบาร์ที่ระบุไว้ว่า-ห้ามร้องเพลงไทย !!

“เล็กกับผม-เป็นเพื่อนเก่ากันตั้งแต่อุเทนถวาย” แอ๊ดพูดถึงเล็ก


“วันนั้น-ที่โดนไล่ออก...เล็กเขาเข้าไปพอดี หลังเหตุการณ์-เขายังจะไปพังโรงแรมเลย ต้องช่วยกันลากออกมา.. พอออกจากงานแล้วก็มารวมกับเล็ก เขาบอกว่ามาทำกันต่อสำหรับคาราบาว-ตัวเล็กเองก็อยากทำอยู่แล้ว ตอนที่เล็กเข้ามาร่วมกับผม เขามีไอเดียอยู่มากมาย เลยร่วมกันจริงจังมาแต่นั้น”

อัลบั้ม “แป๊ะขายขวด” จึงเป็นก้าวที่สองของคาราบาว



สัมพันธ์ "เดอะ เพรสซิเดนท์"
“วณิพก” ..ดังระเบิด


ตั้งแต่อัลบั้มแรกมาถึงอัลบั้มที่ ๒ คาราบาว อยู่ในสังกัด ‘พีค็อค สเตอริโอ’ และยังไม่มีนักดนตรีเป็นสมาชิกถาวร ยืนยงได้อาศัยไหว้วานให้เพื่อนๆ มาช่วยเล่น ช่วยทำงานในห้องบันทึกเสียง ตั้งแต่วง “โฮป” กระทั่งมาถึงอัลบั้มที่ ๒ ก็ได้ “เดอะ เพรสซิเดนท์” ทั้งวงเข้ามาเป็นแบ็คอัพให้

“ผมขอบอกไว้เลยนะครับ เพรสซิเดนท์เขาเป็นพี่ เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดที่เราเคยคบกันมา ถ้าไม่มีพวกเขา เราอาจจะไม่ได้เดินมาถึงจุดนี้ด้วยซ้ำ เขาช่วยครับ ทุกคนในวงเขาช่วยเรา”

ยืนยงบอกว่า “ผมรู้จัก เดอะ เพรสซิเดนท์ เพราะผมตามเล็กไปดูเขาซ้อมดนตรี เวลาเล็กไปซ้อม ผมก็ไปดู ก็สนิทกับพวกเพรสซิเดนท์ ..พี่อ๊อด พี่แดงหัวหน้าวง ..คือสนิททั้งวงน่ะ ตู้(ดิเรก อมาตยกุล)ก็รู้จัก ..ในที่สุดเวลาคาราบาว เข้าห้องอัดเสียง ก็ได้ เพรสซิเดนท์ช่วยเล่นให้”

จากสองอัลบั้มแรกนั้น..ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ต่อมา ในปี ๒๕๒๖ คาราบาว ก็เริ่มต้นอีกครั้งกับอัลบั้ม “วณิพก”

..โดยยังเป็นการทำงานร่วมกับ “เดอะ เพรสซิเดนท์” เช่นเดิม แล้วย้ายเข้ามาสังกัด “อโซน่า” โดยมีสมาชิกวงเพียงสามคนเท่านั้น คือ แอ๊ด- ยืนยง เขียว-กิรติ และ เล็ก-ปรีชา

เมื่ออัลบั้ม “วณิพก” เผยแพร่ออกไป ฉับพลันนั้น “คาราบาว” ก็ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศทันที นอกจากคาราบาวจะกลายเป็นวงดนตรียอดนิยมแล้ว พวกเขายังทำให้จังหวะสามช่า (ช่ะ ช่ะ ช่ะ) กลายเป็นจังหวะที่เร้าใจคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้



อำลา “อโซน่า”
สู่ยุค ๗ คน คาราบาว


กล่าวสำหรับ “เดอะ เพรสซิเดนท์” เป็นแบ็คอัพให้ คาราบาว มาจนถึงอัลบั้มที่ ๓ “วณิพก” แล้ว
..ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งขึ้นกับคาราบาว หลังจากเสร็จงานอัลบั้มดังกล่าว “เดอะ เพรสซิเดนท์” มีกำหนดเดินทางไปเดินสายทัวร์อเมริกาทั้งวง รอยต่อช่วงนี้ จึงเป็นห้วงเวลาที่คาราบาวเกิดความระส่ำระสาย เพราะไม่มีนักดนตรีเล่นแบ็คอัพให้ สมาชิกวงมีเหลือแค่ ยืนยงและกิรติ เพียงสองคนเท่านั้น

“เล็กก็ไปด้วย แต่เขาบอกว่าเป็นการทัวร์ครั้งสุดท้าย เมื่อกลับมาก็จะลาออกจากเดอะเพรสซิเดนท์ ระหว่างเวลานั้น ผมต้องเอานักดนตรีในห้องอัดเสียงของอโซน่ามาร่วมงานไปพลางๆ ก่อน ก็มี พี่เป้า มีอาจารย์ธนิสร์ แล้วก็มีพี่ไพรัช-มือเบส และยังได้ เทียรี่ มาด้วย-มาเล่นกีตาร์แทนเล็ก ผมก็เป็นคนร้องและเล่นกีตาร์ ส่วนเขียวก็ต้องร้องแล้วเล่นคอร์ดกีตาร์” ทั้งหมดได้รับการว่าจ้างให้ออกทัวร์คอนเสิร์ตกับคาราบาว ตั้งแต่อัลบั้ม “วณิพก” เรื่อยมา และเข้าร่วมงานในห้องบันทึกเสียงกับอัลบั้ม “ท.ทหารอดทน” เป็นชุดแรก


หลังจากอัลบั้ม “ท.ทหารอดทน” โด่งดังกระหึ่มเมืองตอกย้ำความสำเร็จจากอัลบั้ม “วณิพก” แล้ว
..คาราบาว ก็ยกเลิกสัญญากับ “อโซน่า”
“ผมไม่อยากอยู่กับอโซน่าแล้ว ผมเถียงกับอโซน่าเรื่องห้องอัด ผมจะไปอัดที่ศรีสยามเขาก็ไม่ให้ไป เขาจะให้อัดห้องข้างบนในบริษัทอโซน่า ซึ่งมี ๘ แทรค ..ห้องอัดของเขามีเพียง ๘ แทรค ทำไมเขาไม่ยกระดับคุณภาพงาน.. อุปกรณ์ก็เก่า เครื่องเทปก็เก่า โรงงานตั้งอยู่ที่เดียวกัน ..ผมเห็นสภาพแบบนั้นทุกวัน ผมก็ท้อแท้ เสียงเทปออกมาห่วยมาก สมัยนั้นห่วยมาก เหมือนเขาไม่ยอมลงทุน ผมซังกะตาย
...โดยเรารู้สึกไม่มั่นคงต่อไป
...อันดับแรกคือคุณภาพเทปไม่ดี นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจบ๊ายบาย”

“สาเหตุไม่ใช่เรื่องเงิน..ขอยืนยัน” แอ๊ดตอบ..

“เรื่องเงินทองไม่มีปัญหา เราคุยกันแล้ว..หกบาทก็หกบาท”
(หมายถึงส่วนแบ่ง)



“เมดอินไทยแลนด์”
อัลบั้มประวัติศาสตร์


หลังออกจาก “อโซน่า” ..ช่วงต้นปี ๒๕๒๗ ยืนยงทดลองทำงานเดี่ยวเป็นครั้งแรกแบบอะคูสติก ชุด “กัมพูชา” และในปลายปีเดียวกัน คาราบาว ก็เริ่มทำงานใหม่ “เมดอินไทยแลนด์” ที่กลายมาเป็นอัลบั้มประวัติศาสตร์

“เมดอินไทยแลนด์” ทำยอดขายชนิดถล่มทลาย โดยยืนยงและเพื่อนๆ เองก็คาดไม่ถึง ยอดขายที่คาดหวังไว้แต่แรกนั้น อยู่ที่ตัวเลขแค่ ๕ แสนม้วน “แต่มันได้เป็นดับเบิ้ล !” ยืนยงสำทับ หนึ่งล้านม้วน (ไม่นับเทปผีที่ออกมาเกลื่อน)

อย่างไรก็ตาม อัลบั้มนี้ได้กลายเป็นชนวนร้าวฉานระหว่าง คาราบาวกับ “แกรมมี่” เนื่องจากแกรมมี่แอบขึ้นราคาปกเทปถึง ๒ ระลอกติดๆ กล่าวคือ เดิม “อามีโก้” ให้แกรมมี่ ๒๐บาท ขณะที่คาราบาวได้ ๘ บาท ครั้นเทปขายดี แกรมมี่ตัดสินใจขึ้นราคาปกเทปทันทีเป็น ๒๒-๒๓ บาท ด้วยเหตุนี้-อามีโก้ผู้จัดจำหน่ายจึงผลักภาระให้ยี่ปั๊วขึ้นราคาตามเป็นทอดๆ โดยสมาชิกคาราบาว ไม่ได้มีส่วนรับรู้ใดๆ

“การที่ขึ้นราคาปกนี่ ไปขายได้มากกว่า เพราะเขาดิวซ์กับอามีโก้ แต่เราได้เท่าเดิม ผมบอกให้เลิกนะ ..ผมเลยสาปส่งแกรมมี่ตั้งแต่บัดนั้นมา ทำการค้าเห็นแก่ได้ ขึ้นราคาแล้วไปเอากับใครล่ะ ก็เอากับประชาชนแฟนเพลงคาราบาว น่ะสิ”


ความสำเร็จอย่างท่วมท้นของ “เมดอินไทยแลนด์” ก่อเกิดหลายสิ่งหลายอย่างตามมาแก่สมาชิกแต่ละคน เริ่มจากยืนยงตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่การเคหะแห่งชาติ
“ผมทำเมดอินไทยแลนด์แล้วรู้สึกว่า ผมมีทัวร์ต่างจังหวัดมากเหลือเกิน ผมเลยต้องออก ต้องเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ผมก็ไปบอกพ่อ ..ทีแรกพ่อก็คัดค้าน แต่แล้วผมก็ตัดใจแล้วค่อยบอกพ่อทีหลัง พ่อก็บอก-เอาก็เอา ก็แล้วแต่เรา เมื่อเลือกเดินทางนี้แล้ว ก็ต้องทำทางนี้ให้ดีที่สุด”


นอกจากงานแสดงดนตรีที่เพิ่มเข้ามาแล้ว โครงการใหญ่ของคาราบาว ก็คือการสร้างห้องบันทึกเสียงของตัวเอง “เซ็นเตอร์ สเตจ” ที่ก่อเกิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของคาราบาว ..ทุกคนมีหุ้นส่วนอยู่ในห้องบันทึกเสียงแห่งนี้
“ผมพยายามผลักงานให้มันออกมาใหม่ๆ ให้มีลักษณะพัฒนาขึ้น นั่นคือธรรมชาติของคน”
ยืนยงอธิบาย
“พยายามผลักดันให้งานมันดีขึ้น ให้มีคุณภาพ ..ด้านส่วนตัวผมก็ไปศึกษาเพิ่มเติม นำทฤษฎีความเป็นอยู่มาผนวกกับการแสวงหาวัตถุดิบ ควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ ตรงนี้เราถึงการันตีว่างานที่เราจะทำ มีคุณภาพด้านเทคโนโลยีประกันด้วย เรามีห้องอัดเป็นของตัวเอง เรามีเวลาในห้องอัดที่จะทำงานกับมันมากๆ แทนที่จะต้องไปเช่าห้องของคนอื่น แล้วใช้เวลา ๑๐ วัน ต้องอัดให้เสร็จ
..แต่นี่เรามีเวลาทั้งปีทั้งชาติทำเข้าไปเพราะมันเป็นของเรา ผลงานของคาราบาวมันจะต้องดีกว่าแน่ๆ”

และอีกโปรเจกท์หนึ่งคือ-โครงการตู้หนังสือสำหรับเยาวชน ..ซึ่งคาราบาวต้องเดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตหารายได้มาสมทบถึงอเมริกา ก่อนจะกลับมาสร้างภาพยนตร์ “เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ” เป็นการหาทุนมาสมทบอีกทางหนึ่ง

“ผมมาทำโครงการตู้หนังสือและแจกหนังสือแก่เด็กทั่วประเทศ ๓,๐๐๐ แห่ง เป็นเงิน ๓ ล้านบาท เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมต้องไปอเมริกา ได้เงินมา ๘ แสน ก็เป็นเหตุที่ผมต้องถ่ายโฆษณาให้โค้ก ได้เงินมาอีกห้าแสน เป็นสาเหตุให้ผมต้องมาสร้างหนัง ‘เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ’ ..คิดว่าคงจะได้ถึง ๓ ล้าน และเราก็ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานราชการบ้าง หน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการบ้าง ในเรื่องของจำนวนตู้ที่ได้มา ๑๖๐ ตู้ ..เราตั้งงบไว้สำหรับที่เราจะทำให้กับสังคมในเรื่องของสิ่งเหล่านี้”

ความสำเร็จจากชุด “เมดอินไทยแลนด์” ถือได้ว่า- แม้คาราบาวจะนำเสนอศิลปวัฒนธรรมแบบอย่างที่ “คาราวาน” เคยเสนอมาแล้ว ..แต่ยืนยงบอกว่า “ที่ผ่านมา-คาราวานเสนอในลักษณะของการต่อสู้เฉพาะเหตุการณ์ แต่ของคาราบาว เสนอในลักษณะเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่สามารถปลุกให้คนมารับรู้เรื่องราวต่างๆ ของสังคมที่เป็นจริง” และความสำเร็จของ คาราบาว ยังมีส่วนช่วยปูพื้นฐานให้วงอื่น ช่วยสะท้อนปัญหาสังคมตามกันออกมา เสมือนคาราบาว ได้ปูทางให้วงรุ่นหลังๆ ไว้ต่อเนื่องจาก “คาราวาน” ที่เคยประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้

กล่าวสำหรับความสำเร็จของคาราบาวที่ได้รับอย่างล้นหลามนั้น ยืนยงมองว่า เพราะคาราบาวเกิดจากรากฐานกว้างขวาง ..ที่สำคัญคือมีการปูพื้นฐานเป็นขั้นเป็นตอน ไม่แปลกที่ยืนยงบอกว่า เมื่อวันนี้เดินทางมาถึงแล้ว..“เรารู้สึกเฉยๆ กับมัน เพราะเรารู้ว่าวันหนึ่งเราต้องชนะ !”

คาราบาวก็เหมือนวงดนตรีอื่นๆ ที่มีปัญหาตามมา หลังจากความสำเร็จของอัลบั้ม "เมดอินไทยแลนด์" เดินทางมาถึง ไม่นานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมือเบสจาก ไพรัตน์ เพิ่มฉลาด เป็น อนุพงษ์ ประถมปัทมะ ที่เล่นให้คาราบาวมาตั้งแต่ยุคแรก




..แอ๊ดน่าจะให้คำตอบนี้ได้กระจ่างชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ?

ยืนยงอธิบายว่า
“หลังจากเดอะเพรสซิเดนท์กลับจากอเมริกา เล็กก็ลาออกมาเข้าวงคาราบาวเต็มตัว เราก็กลายเป็น ๗ คน โดยมีพี่ไพรัตน์ มือเบสอยู่ แล้ว พี่อ๊อด (อนุพงษ์)เข้ามาไม่ได้ด้วยตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งไม่ได้มีการเตรียมตัวไว้ก่อนหน้านี้ แต่พี่อ๊อดมาคุยกับผมว่า จริงๆ แล้ว อยากอยู่คาราบาว เพราะไม่อยากเล่นในบาร์อีกต่อไปแล้ว อยากทำงานที่มันสร้างสิ่งใหม่ๆ”

“ระหว่างพี่รัชกับพี่อ๊อด เราดูคุณสมบัติแล้ว พี่อ๊อดเป็นคนที่รับผิดชอบต่องานสูง เป็นคนที่มีความสามารถแล้วก็เป็นคนที่เล่นมาก่อน ในช่วงที่พี่อ๊อดไปอเมริกากับ เดอะ เพรสซิเด้นท์นั้น รายได้ของพี่อ๊อดในเทปชุดที่แกอัดไว้ ก็ตกเป็นของพี่รัช รายได้ส่วนหนึ่งจากตำแหน่งของพี่อ๊อดก็ตกเป็นของพี่รัช ทั้งๆ ที่พี่รัชไม่ได้เล่นเลย เป็นของพี่รัชนับแต่ชุด ‘ท.ทหารอดทน’
แล้วผมออกจาก ‘อโซน่า’ มาประเดิมชุด ‘กัมพูชา’ แล้วก็เอาเทปมาให้แกรมมี่โปรโมต ในชุด ‘เมดอินไทยแลนด์’ ซึ่งมียอดขายสูง

เขาเคยปลดปล่อยความรู้สึกว่า

“สำหรับคาราบาวนี่ โดยส่วนตัวผมแล้ว มันไม่ใช่วงดนตรี มันเหมือนกับครอบครัว เป็นพี่น้องกัน ในความรู้สึกของผมนะ..”

และรับอีกว่า การทำงานย่อมมีความขัดแย้งบ้างเป็นธรรมดาๆ แต่พอปัญหามันผ่านไปแล้วมันก็สบาย..

“ผมไม่ท้อ-ไม่อะไร ผมมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา คนเราอยู่ใกล้กันการขัดแย่งนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งทะเลาะกัน-ขัดแย้งในเรื่องของงาน ..แบบนี้สิมัน เพราะว่างานมันจะต้องได้ดี”



09 พฤศจิกายน 2551

เพลงแรกในชีวิต



เพลงแรกในชีวิต
กลั่นออกมาจากภาพคนคุก


การเขียนเพลงแรกในชีวิตของ ยืนยง โอภากุล เกิดขึ้นมาระหว่างห้วงที่เขาสะพายกีตาร์ เป่าเม้าท์ เล่นดนตรีหารายได้พิเศษตามคอฟฟี่ช็อพ ยืนยงเล่าว่า..

ครั้งหนึ่งเขาหิ้วกีตาร์โปร่งเข้าไปเล่นดนตรีในคุกคลองเปรม ให้นักโทษฟัง ตามคำชักชวนของเพื่อนชาวสุพรรณบุรีที่บังเอิญเป็นผู้คุมนักโทษอยู่ในนั้น ประสบการณ์ในคุก-ยืนยงเล่าว่า.. เป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง เป็นเรื่องแปลกใหม่ สำหรับเขา ยืนยงว่า-เขาฝังใจในแววตาแต่ละคู่ของนักโทษที่มองมายังเขานั้น รู้สึกเขามีความสุขกับเสียงเพลงจริงๆ กลับออกมาจากคลองเปรมครั้งนั้น แรงบันดาลใจก็พลุ่งพล่าน จนต้องถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้สึกนั้นออกมาเป็นเพลงไทยเพลงหนึ่ง “เพลงนั้นเป็นเพลงไทยที่ผมแต่งเป็นเพลงแรก”

แต่น่าเสียดายต้นฉบับเพลงนี้หายไปแล้วกับกาลเวลา โดยปราศจากความทรงจำ

“ตอนนี้ผมจำเนื้อเพลงนั้นไม่ได้แล้วครับ จำได้แต่ว่า ผมแต่งขึ้นมาเพื่อมอบให้กับนักโทษในคลองเปรมโดยเฉพาะ..” เท่านั้นเอง



ชนวนวันมหาวิปโยค

ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุการณ์บ้านเมืองแปรเปลี่ยน ประชาชนและนิสิต นักศึกษาหลายแสนรวมตัวกันกลางถนนราชดำเนิน ขณะที่ยังมีอีกหลายล้านคนรวมตัวกระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมือง เพื่อร่วมกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ทหาร จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร โดยมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)เป็นหัวขบวน

“สู้เข้าไปอย่าได้ถอย
มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม..”

บทเพลง “สู้ไม่ถอย” ที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นผู้ประพันธ์ ดังกระหึ่มขึ้นในหมู่นักศึกษา กล่าวสำหรับเพลงนี้ นักศึกษาร่วมร้องกันครั้งแรก ในการชุมนุมเรียกร้องขอความเป็นธรรม-คัดค้านการลบชื่อ ๙ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เขียนและพิมพ์หนังสือชื่อ ‘มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ’ ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ชมรมคนรุ่นใหม่’ เปิดโปงกรณีนายทหารจำนวนหนึ่งที่พาดาราสาวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของราชการ บินเข้าไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร เมืองกาญจนบุรี กระทั่งเครื่องบินตก ปรากฏซากสัตว์เกลื่อนทุ่ง เนื้อหาในหนังสือมีการตีพิมพ์ข้อความพาดพิงถึง การต่ออายุราชการของจอมพลประภาส จารุเสถียร ว่า

“สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี”

นั่นเป็นที่มาของการเปิดโปงก่อนเป็นชนวนสู่เหตุการณ์นองเลือด



สู้ไม่ถอย
ต้นธารเพลงเพื่อชีวิต


เพลง “สู้ไม่ถอย” ถือได้ว่าเป็นต้นธารเพลงเพื่อชีวิตเพลงแรกของไทย เป็นบทเพลงที่กำเนิดขึ้นจากความอัดอั้น และความรู้สึกที่ถูกปิดกั้นทาง เสรีภาพมาอย่างเนิ่นนาน เป็นบทเพลงที่เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ให้แก่ผู้ชุมนุมนับแต่นิสิตนักศึกษาและมวลชน หลังบทเพลงนี้ดังกระหึ่ม ..ในห้วงเดียวกันก็มีเพลง “สานแสงทอง” ของ สุรชัย จันทิมาธร แห่งวง ‘คาราวาน’ ตามมาอีกเพลง เนื้อหาและอารมณ์ของทั้งสองบทเพลง ถือเป็นการปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ ให้มวลชนลุกขึ้นมาต่อสู้ขับไล่เผด็จการทหาร หากแต่เนื้อหาของเพลงหลัง-มุ่งคำนึงถึงเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก ผู้ประพันธ์เพลงหลังไม่ใช่ใครที่ไหน หากเป็นอาจารย์ใหญ่ของเพลงเพื่อชีวิตนั่นเอง

สุรชัย จันทิมาธร-ซึ่งเขาเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมขบวนการต่อสู้ในเหตุการณ์วิปโยค ครั้งนั้นด้วย

หงา-สุรชัยเป็นคนคอยเขียนกลอนส่งให้โฆษกบนเวทีอ่านให้ประชาชนฟัง เพื่อปลุกเร้าขวัญกำลังใจหลอมรวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

เพลง “สานแสงทอง” ถือกำเนิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว
โดย สุรชัยเดินตามทำนองเพลง FIND THE COST OF FREEDOM
ของ "ครอสบี้ สติลล์ แนช แอนด์ ยังก์"

“ขอผองเราจงมาร่วมกัน ผูกสัมพันธ์ยิ่งใหญ่
สานแสงทองของความเป็นไทย ด้วยหัวใจบริสุทธิ์..”




๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖..วันมหาวิปโยค

การเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้นักศึกษาทั้ง ๙ คนไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งก็ถูกลบชื่อออกไปในเวลาต่อมา โดยที่ไม่มีใครสามารถระงับยับยั้งได้ ประกอบด้วย

นายแสง รุ่งนิรันดร์กุล, นายวันชัย แซ่เตียว, นายบุญส่ง ชเลธร, นายวิสา คัญทัพ, นายสมพงษ์ สระกวี, นายสุเมธ สุวิทยะเสถียร, นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์, นายประเดิม ดำรงเจริญ, นางสาวกุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์

ส่วนนักศึกษาจำนวน ๑๕ คนที่เป็นหัวหอกในการเรียกร้องความเป็นธรรม ก็ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนด้วย เหตุนี้เองนิสิตนักศึกษาอีกทั้งประชาชนจึงลุกฮือขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม จึงพากันชุมนุมกันขึ้น ณ ถนนราชดำเนิน ห้อมล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองยุคนั้นรุมเร้าไปด้วยปัญหาสารพัน ทั้งเศรษฐกิจ ปัญหาชาวนา กรรมกรรถไฟ แหล่งเสื่อมโทรม และปัญหาคอรัปชั่น บทเพลง “สู้ไม่ถอย” “สานแสงทอง” ถูกขับขานครั้งแล้ว ครั้งเล่า เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า เพิ่มดีกรีความร้อนแรงยิ่งๆ ขึ้นไป

นักศึกษาจำนวน ๑๕ คนที่รวมตัวกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ออกแจกใบปลิวและหนังสือเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ แต่ผลที่สุดก็ถูกจับกุมในข้อหาคอมมิวนิสต์ ธรรมศาสตร์กลายเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของนักศึกษา

องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จับมือผนึกกำลังกับ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เรียกร้องรัฐบาลให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม

เหตุการณ์สืบเนื่องจากนั้นคือ ประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนและนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมใจกันเคลื่อนตัวออกมาชุมนุมกันด้านนอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและลานพระบรมรูปทรงม้า

การประท้วงยืดเยื้อต่อไปถึงวันใหม่ ๑๔ ตุลาคม แม้ว่ารัฐบาลจะยินยอมออกคำสั่งปล่อยตัว ๑๕ นักศึกษาแล้วก็ตาม แต่แล้วรัฐบาลก็ตัดสินใจใช้คำสั่งปราบปรามผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่เดินเรียงหน้าออกมายิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนอย่างไม่ยั้งหวังสลายการชุมนุม เหตุการณ์บานปลายขึ้นเรื่อยๆ การปะทะเกิดขึ้นตามมาในที่สุด สุดที่ จะหลีกเลี่ยง สถานที่ราชการหลายแห่งถูกเผาทำลาย เลือดเนื้อชีวิตของประชาชนเลือดเนื้อชีวิตของนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก ถูกเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต



๑๔ ตุลาคม..แอ๊ดอยู่ที่ไหน !

นองเลือด ๑๔ ตุลาคม ยืนยงเรียนอยู่ปีที่ ๓ อุเทนถวาย

“ตอนนั้นแอ๊ดอยู่ที่ไหน?”

“๑๔ ตุลาผมก็อยู่ในเหตุการณ์.. ผมไปร่วมด้วย สนุกดี เขาให้ทำอะไรก็ทำตามเขาไป พอทหารยิงปืน-เราก็อยากยิงบ้างแต่เราไม่มีปืน เขาเอารถถังมา-เราก็เอากระถางต้นไม้เท่าที่จะหาได้ขว้างไป เผาตึกกองสลาก พวกแก๊สน้ำตาน่ะกระจอก..ผมเอาผ้าหนาๆ พันหัวชุบน้ำก็พอมองเห็น ตามซอยต่างๆ มันจะปิดซอยแล้วยิง ผมหมอบลงแล้วกลิ้งเข้าข้างๆ ตึกแถว พอดีเป็นร้านขายรองเท้า เขาสงสารเปิดประตูแล้วดึงผมเข้าไป”

ยืนยง กล่าวถึงประสบการณ์ตัวเองในเหตุการณ์นองเลือด ๑๔ ตุลาคม

๑๔ ตุลาคม จบลงด้วยคราบเลือดและน้ำตาของมวลชน ‘สามทรราชย์’ เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศในบัดดล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัยนั้น ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลพลเรือนที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกผู้คนอย่างเต็มที่ ลัทธิมากมายในหมู่ชั้นปัญญาชนสยามและนิสิตนักศึกษา มีการจัดนิทรรศการจีนแดง ธารสายสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเวลานั้นยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก อาทิ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน มีการถกเถียงกันถึงศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ชื่อของนักคิดนักเขียน "จิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์" เรืองนามขึ้นมาฐานะผู้นำทางความคิดของปวงชน

ความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก การเอารัด เอาเปรียบ ความรุนแรง ถูกตีแผ่ซึ่งเปิดเผย ออกมาในรูปของ “บทเพลง” ต่างๆ คาราวาน ผู้นำเพลงเพื่อชีวิต ..คาราวานจากการนำของ สุรชัย จันทิมาธร กลายเป็นผู้นำด้านบทเพลง เพื่อชีวิตยิ่งใหญ่และจับใจกระแสมวลชนยุคนั้นเป็นที่สุด เพลงแล้วเพลงเล่าเรื่อยมาตั้งแต่ “คนกับควาย, เปิบข้าว, ข้าวคอยฝน” ดังกระหึ่มตามรั้วสถาบันที่พวกเขาไปเปิดการแสดง

ขณะที่เพลงที่ครองใจหมู่ชนยุคนั้นอย่าง สุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธ์ หรือแม้กระทั่ง "ดิอิมพอสซิเบิล" เหมือนจะถูกแยกไปอยู่ในหมู่ผู้ฟังอีกระดับหนึ่ง และเป็นดังลูกคลื่นตามมา..พอ "คาราวาน" ดังกระฉ่อน วงอื่นๆ ในแนวเดียวกันก็เกิดขึ้น นับเรื่อยมาจาก.. ‘กรรมาชน, คุรุชน, โคมฉาย, กงล้อ, รวมฆ้อน, ต้นกล้า’ ..มาจนถึง..ลูกทุ่งสัจจธรรม ทั้งที่มีผลงานในรูปของแผ่นเสียงและไม่มีการบันทึกเสียง อย่างไรก็ตาม บทเพลงต่างๆ ที่พวกเขาขับขาน ถูกขีดกรอบให้ร่ำร้องอยู่แต่ในรั้วสถาบันการศึกษาเท่านั้น

“คาราวานมีอิทธิพลกับคาราบาวมากน้อยแค่ไหน ?”
ยืนยงตอบ..
“มีส่วนฮะ เพราะก่อนหน้าที่ผมจะไปฟิลิปปินส์ ผมได้ฟังดนตรีของเขาก่อนไป แต่ผมไม่เคยดูคาราวาน ผมรู้จักคาราวานในนามของวง 'อิสซึ่น' เพราะวงอิสซึ่น-ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ากรุงเทพฯ เขาชื่อวง 'คาราวาน โฟร์' ผมรู้จักคาราวานคือ อิสซึ่น ช่วงที่ผมจะไปฟิลิปปินส์ผมซื้อเทปมาชุดหนึ่งกลับไปสุพรรณ ไปเยี่ยมแม่ มีเพลงนักร้องลูกทุ่งด้านหนึ่ง อีกด้านเป็นของคาราวาน ผมก็ได้ฟังม้วนนั้นน่ะ ฟังจนยืด”
และบังเอิญเพื่อนที่เป็นรูมเมทที่ฟิลิปปินส์ ก็ฟังเพลงของ คาราวาน และชอบเล่นเพลงคาราวาน “คนพวกนี้มีจิตใจเป็นนักต่อสู้เป็นศิลปินของนักศึกษา เป็นศิลปินของม็อบในเวลานั้น แต่ตัวผมมันโตมาทางงานอีกด้านหนึ่ง ทางเพลงสากลที่มีรากฐานที่ต่างกัน ด้านคาราวานนั้น-เพลงพวกพื้นบ้านเขาจัดเจนแล้วก็ได้อารมณ์กว่า ช่วงนั้น คาราวานมีบทบาทมากในงานของแง่ดนตรีเพื่อชีวิต ถ้าเพลงที่ไม่พูดถึงความรักก็เหมาว่าเป็นทายาทของคาราวาน หากคิดอย่างนั้นก็ไม่ผิด ที่พวกเราจะยกย่องเขา”


ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ สังคมไทยสู่ยุควิกฤตทางการเมืองอีกครั้ง นักศึกษาที่เคยเกาะกลุ่มกันอย่างแน่นเหนียว ถูกแทรกแซงโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เริ่มแพร่เข้าสู่เมือง จนฝ่ายทหารเริ่มหวั่นไหว เหตุการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เพราะเกิดการปะทะขึ้นเป็นระยะๆ เกิดภัยมืดคุกคามผู้นำต่างๆ ผู้นำนักศึกษาถูกฆ่า ผู้นำชาวนาถูกฆ่า นักการเมืองถูกลอบสังหาร ในกรุงเกิดจราจลขึ้นบ่อยหน ชนวนของการเข่นฆ่ากันเองเกิดขึ้นอีกครั้ง

จอมพลถนอม กิตติขจร ขอเข้ามาบวชเป็นสามเณรที่วัดบวรฯ อ้างว่ามาเยี่ยมบิดาซึ่งป่วยหนัก พลันกระแสต่อต้านจากนักศึกษาก็อุบัติขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่นานก็เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างนิสิตนักศึกษาประชาชนกับฝ่ายรัฐบาล ข้อหาคอมมิวนิสต์กลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้มีการล้อมปราบนักศึกษา

เช้าตรู่วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เหตุการณ์ ตุลาวิปโยคเกิดขึ้นอีกครั้ง กำลังตำรวจ-กลุ่มลูกเสือชาวบ้านจากการจัดตั้งของฝ่ายอำนาจเก่า ยกกำลังบุกล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วินาทีหลังจากนั้น เสียงปืนดังกึกก้องฟ้า นิสิตนักศึกษาจำนวนมากถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด และประชาชนบาดเจ็บ ล้มตายจำนวนมหาศาล พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.๒๕๑๗ และแต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ยืนยงย้อนถึงเหตุการณ์นองเลือดครั้งที่ ๒ ว่า
“วันที่ ๖ ตุลาคม ผมกลับบ้านที่บางแค น้องชายผมเรียนอยู่ที่ทันตแพทย์ จุฬาฯ ถูกจับกุม วันนั้นผมออกจากบ้านมาท่าพระจันทร์พอดี เห็นนักศึกษากำลังกระโดดหนีลงแม่น้ำเจ้าพระยากัน ความจริงคนที่น่าจะถูกฆ่าคือคุณธานินทร์ เพราะเขาได้ทำความชั่วร้ายไว้มากมาย..”

แอ๊ดรู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้ !
“ผมรู้สึกสลดหดหู่กับมัน คือผมเริ่มเห็นว่า บ้านเมืองเรานั้น มันตกอยู่ภายใต้เผด็จการ เช่นเดียวกันกับหลายๆ ประเทศที่เป็นอยู่ แต่ว่ามันอยู่ในรูปแบบที่แยบยล-ประชาชนไม่มีสิทธิเต็มที่ แต่ว่าไอ้ช่วงนั้นมันมีการประท้วงหรือการก่อม็อบที่ซับซ้อนหลายเรื่อง บางทีผมก็แยกไม่ออก ผมไม่ได้เข้าลึก ทั้งๆ ที่เป็นคนที่ร่วมอยู่ในแนวร่วมอาชีวศึกษาใน ๑๔ ตุลาคม คือก้าวหน้า แต่ว่ายังไม่ถึงระดับที่จะเข้าร่วมในทีมหัวใจสำคัญ”

เหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้เอง ที่เป็นเหตุผลให้ทางบ้านตัดสินใจส่ง "ยืนยง โอภากุล" ไปเรียนต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์



๓ สหายบนแผ่นดินตากาล็อก

“คนที่ไปตอนนั้นส่วนหนึ่งคือไปก็เพราะใจ บางคนก็หนีไป บางส่วนเข้าป่า บางส่วนพ่อแม่ส่งไปเรียนนอก ให้พ้นๆ ก็มีจำนวนไม่มาก”

ยืนยงนึกคิดถึงสภาพนักเรียนไทยที่กระเสือกกระสนไปเรียนต่างแดน อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

“ส่วนเราเองที่ไปนี่ อยู่ในสภาพแวดล้อม ที่ผมเคยๆ อยู่ เพื่อนในบ้าน หรือในโรงเรียนนั้น มีน้อยคนที่จะรู้เรื่องราวของเรา อาจจะเป็นเพราะฐานะทางบ้าน-ครอบครัวที่สามารถส่งลูกไปเรียนได้ ทำให้เด็กพวกนี้ไม่ค่อยคิดถึงสังคม ไม่ใช่คนต่อสู้แต่คนต่อสู้จริงๆ ก็ใช่ว่าไม่มี”

ยืนยงหมายถึงปฏิกริยาและความตื่นตัวของนักเรียนไทยในฟิลิปปินส์ต่อเหตุการณ์ ‘ตุลาวิปโยค’

ยืนยงเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย "มาปัว อินสติติ๊ว ออฟ เทคโนโลยี่" ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านช่างก่อสร้างและวิศวกรรมของประเทศฟิลิปปินส์ รองจากมหาวิทยาลัย "ซานโตโทมัส" และ "ยู.พี." เขาตั้งใจตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียวตามความประสงค์ของทางบ้าน ดนตรีที่เคยเล่นเมื่อครั้งอยู่เมืองไทยนั้นดูจะเป็นเรื่องรอง “หลังจากจบปี ๓ (ประมาณ ม๖) ผมก็ไปเรียนต่อฟิลิปปินส์ ไปเจอ เขียว กับเพื่อนอีกคนที่นั่นคือ ไข่-สานิต ลิ่มศิลา ก็ตั้งวงกัน ทีแรกเขียวจะไม่เล่นแล้ว เพราะเขาเล่นมาเยอะ แม่เลยส่งไปเรียนต่อฟิลิปปินส์”



นั่นเป็นรอยต่อของวันเวลา ระหว่างแผ่นดินไทยกับผืนดินตากาล็อกก่อนการเดินทางไกลสู่ฟิลิปปินส์

“สมัยอยู่อุเทนฯ ก็เล่นโฟล์กซองไปด้วย แต่พอไปฟิลิปปินส์ แทนที่จะเลิก กลับได้ฤกษ์ ไปเจอเพื่อนอีก ๒-๓ คนที่เล่นดนตรีมาแล้ว.. ก็เลยรวมกันเป็น คาราบาว




คาราบาว คือเขาควาย



คาราบาวคืนสู่แผ่นดินไทยหลังตุลาคม ๒๕๑๙ เพลงเพื่อชีวิตมีบทบาทสูงอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษา แม้จะถูกรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปิดกั้นเสรีภาพทางด้านการเสพก็ตาม ก่อนหน้าและหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ก่อเกิดวงดนตรีเพื่อชีวิตมากมายในเมืองไทย เพลงดังๆ หลายเพลงมุ่งสื่อการปลอบประโลม การให้ความหวัง กำลังใจ การปลุกเร้า พลังในการมีชีวิตและการต่อสู้ คาราวาน, คุรุธรรม, โคมฉาย และอีกหลายวงที่อยู่หัวแถวของขบวนเพลงเพื่อชีวิต เดินทางเข้าร่วมเป็นหน่วยศิลป์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผลิตเพลงเพื่อชีวิตออกมาเป็นจำนวนมากขับกล่อมกลุ่มปัญญาชน นักศึกษา

ขณะที่การขับขานบทเพลงในเมืองกรุงมีเพียงวง‘แฮมเมอร์’วงเดียว ที่ผุดแทรกขึ้นท่ามกลางการเดินพาเหรดเข้าป่าของวงอื่นๆ ระยะเวลาสืบต่อจากนั้น ยืนยงและเพื่อนก็ทะยอยกันเดินทางกลับมาจากประเทศฟิลิปปินส์ มาถึงแผ่นดินไทย..ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปตามวิถีทางของตน

ยืนยงเข้าทำงานการเคหะแห่งชาติและรับเหมาก่อสร้าง เป็นเหตุให้ห่างดนตรีไป

“สองปีแรกผมไม่ค่อยได้ทำเรื่องดนตรีเท่าไหร่ ทำงานการเคหะอยู่ ๔ ปีกว่า เล่นดนตรีบ้างหยุดบ้างเพราะงานมันเยอะขึ้น ผมรับเหมาก่อสร้างด้วย ทำหลายอย่าง”


นั่นเป็นงานประจำของยืนยงก่อนเบนเข็มเป็น คาราบาว เต็มตัว

แต่ประสบการณ์อีกหน้าหนึ่งของยืนยงระหว่างทำงานการเคหะ ที่ยืนยง มักจะซ่อนมันไว้เบื้องหลังความทรงจำ นั่นคือ ภายหลังเดินทางกลับจากดินแดนตากาล็อก เขาได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในป่า ทำหน้าที่ส่งข่าวต่อต้านผ่านทางหมู่บ้านต่างๆ

“ผมอยู่ใกล้ชายแดนลาว ได้เรียนรู้ด้านการเมืองและการทหารเป็นเวลาสั้นๆ แต่เขตงานจริงๆผมอยู่ที่อีสานใต้”


ชีวิตในช่วงนั้นยืนยงบอกว่าลำบากมาก เพื่อนๆ หลายคนตายในป่าในสนามรบ พวกเมล์อย่างผมก็ถูกติดตามตลอด หน่วยจัดตั้งของผม-ก็ถูกเก็บถูกไล่ล่าจากทหารฝ่ายรัฐบาล เมื่อการเคลื่อนไหวในป่าสิ้นสุดลง นักศึกษาปัญญาชนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ได้รับการอภัยโทษและทะยอยออกจากป่า เข้ามอบตัวในปี ๒๕๒๓

"ผมตัดสินใจต่อสู้ ..และแนวทางต่อสู้ของผมก็คือ-ดนตรี"






ลูกชาย "นายวง" ช.ส.พ.



เป็นเกร็ดความจริงของคาราบาว..
จากความทรงจำของ "แอ๊ด" นั่นเอง

ประวัติความเป็นมาของวงคาราบาว และ ยืนยง โอภากุล ผู้ก่อตั้ง ได้รับการบันทึกผ่านหน้านิตยสารต่างๆ นับไม่ถ้วน ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา (บันทึกเมื่อ ๒๕๔๐) ถ้าจะสืบค้นตามรอยความเป็นมาของคาราบาว ควบคู่กับประวัติของแอ๊ด ยืนยง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดูแปลกแยกแต่อย่างใดเลย




ยืนยง โอภากุล เกิดเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ ที่อำเภอเมือง สุพรรณบุรี เป็นบุตรชายคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง ๖ คน เป็นแฝดผู้น้องของ ยิ่งยง โอภากุล

“พ่อแม่ผมเป็นพ่อค้า ผมเกิดในตลาด
ก็ได้เปรียบเด็กกลางทุ่งนาสักหน่อย
แต่ว่าพื้นเพมาจากท้องทุ่งอยู่แล้ว ผมโตมากับแม่น้ำ”

นั่นคือสภาพแวดล้อมสมัยเด็ก จากปากคำของผู้นำวงคาราบาว วงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่ วงหนึ่งของไทยในปัจจุบัน

ยืนยงเติบโตในครอบครัวของศิลปิน คุณพ่อ มนัส โอภากุล อดีตครูและหัวหน้าวงดนตรีชาวสุพรรณฯ ไม่แปลกเลยที่ยืนยงจะซึมซับความเป็นศิลปินเพลงมาจากพ่อ และไม่แปลกเลยที่เขาจะบอกว่า

“ตื่นมาผมก็เห็นเครื่องดนตรีแล้ว พ่อมีวงดนตรีคล้ายๆ กับ
วงสุนทราภรณ์ แต่วงเล็กกว่าชื่อ
ช.ส.พ.- ย่อมาจากชาวสุพรรณ ”


มนัส โอภากุล กับ สุเทพ โชคสกุล ช่วยกันควบคุมวง ช.ส.พ. ตระเวนแสดงตามสถานที่ต่างๆ การเดินทางอันยาวนานของวงดนตรีวงนี้ สร้างและสัมผัสนักร้องดังๆ ขึ้นมามากมาย เรื่อยมาตั้งแต่ คำรณ สัมบุญณานนท์, สุรพล - ศรีนวล สมบัติเจริญ ตลอดจน สำเนียง ม่วงทอง

ยืนยงบอกว่า วงดนตรีนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อธุรกิจ หากก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสังคม แสดงตามงานเล็กๆ ในหมู่เพื่อนฝูง ตลอดจนงานใหญ่ๆ ระดับจังหวัด ตั้งแต่ สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, อ่างทอง เรื่อยไปถึง กรุงเทพมหานคร ที่วงดนตรีวงนี้ตะรอนๆ ไปเปิดการแสดง

ประวัติความเป็นมาของวงดนตรี “ช.ส.พ.” ของพ่อมนัส โอภากุล ยาวนานเพียงใด ยืนยงรีบตอบว่า..

“ครับ ประวัติค่อนข้างยาวอยู่ ไว้วันหลัง หากอยากรู้ประวัติ ‘ช.ส.พ.’ ให้ไปที่บ้าน แล้วไปขอพ่อดู แกมีแฟ้ม ผมยังเคยแอบดูเลย”

ยืนยง โอภากุล ได้รับการเลี้ยงดูแบบลูกผู้ชาย เรียนรู้การสัมผัสโลกด้วย ตัวเองมาแต่เล็ก สภาพแวดล้อมของเด็กน้อยคือแม่น้ำ ท้องทุ่ง และชาวนา ตลอดจนกล้าข้าว วัวควาย ขึ้นไปถึงชนชั้น ‘นายหนืด’ นายทุนแห่งเมืองสุพรรณบุรี

บนผืนแผ่นดินที่ครอบครัวของเขาตั้งรกรากอยู่นั้น เป็นลุ่มน้ำที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งรวมศิลปินเพลงพื้นบ้าน แม่เพลง พ่อเพลง ของประเทศไทย เด็กชายยืนยงใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างสมบุกสมบันในท้องทุ่งเมืองสุพรรณ จัดอยู่ในขั้นเด็กที่ซุกซนคนหนึ่ง

กล่าวสำหรับชีวิตในวัยเด็กของ ยืนยง โอภากุล ตั้งแต่ชีวิตเขาดำเนิน มาเป็น "แอ๊ด คาราบาว" นักเพลงนักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยิ่งยง ยืนยงมักปฏิเสธที่จะเปิดเผยให้ใครทราบ หากใครถามเขาก็มักจะรวบยอด ตัดตอนมาถึงช่วงระยะ ที่เขาเริ่มย่างสู่วัยหนุ่ม ช่วงก่อนการเดินทางเข้าเรียนต่อในกรุงเทพฯ

“ผมจบจากกรรณสูต อำเภอเมือง แล้วก็อุเทนถวาย พี่ชายคนโตผมก็จบไปจากที่นี่ ผมก็คิดว่าผมก็ต้องเรียนที่นี่โดยไม่ได้คิดมาก่อนว่า เขาจะเรียนอะไรกัน ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มหาวิทยาลัยมันแปลว่าอะไร ตอนผมเข้ามาเรียนกรุงเทพน่ะ ผมว่า-เอ๊ ทำไมพี่ชายผมไม่มา พี่ชายของผมคนนี้เขาไม่ได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพ เขาเรียนม.ศ.๔ ม.ศ.๕ ต่อ..จึงแปลกใจ มารู้ตอนหลัง ว่า-อ๋อ เขาเรียนเพื่อที่จะเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์..”


ยืนยง เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวายในปัจจุบัน โดยสมัยนั้นเครื่องแบบยังเป็นกางเกงขาสั้นสีกรมท่า เสื้อเชิ้ต และเข็มขัดสีขาว และอาศัยข้าวก้นบาตรอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ริมคลองหลอด ประทังชีวิต แน่นอนเหลือเกิน แอ๊ด คาราบาว เติบใหญ่มาจากข้าวก้นบาตร

เขาย้อนถามว่า “ผมเข้ามาเรียนกรุงเทพฯที่อุเทนถวายทำไม เพราะอะไรรู้ไหมฮะ?” ได้ยินแต่เสียงของความว่างเปล่า กระทั่งยืนยง โอภากุล ทำลายความเงียบขึ้นมา

“ผมอยากใช้สไลด์รูล ??”




06 พฤศจิกายน 2551

ถึกควายทุย..มหากาพย์ คาราบาว


(ถึกควายทุย เป็นเพลงที่ดำเนินต่อกันเป็นภาคๆ เรื่อยมา ตั้งแต่ คาราบาว ชุดแรก อัลบั้ม “ลุงขี้เมา” (๒๕๒๔) และมาจบบริบูรณ์ในอัลบั้ม “ห้ามจอดควาย” (๒๕๓๔) อันเป็นอัลบั้มที่ ๑๐ ซึ่งดำเนินมาพร้อมๆ กับ การสลายตัวของ คาราบาว พอดิบพอดี จึงไม่ต่างอะไรกับการปิดตำนาน “คนคาราบาว” ยุครุ่งเรือง แอ๊ด คาราบาว เขียนที่มาของเพลงนี้ จะเรียกได้ว่าเป็นนิยายเพลง คาราบาว ก็ว่าได้)

ปี ๒๕๒๑ หลังจากที่ผมกลับมาจากฟิลิปปินส์ ก็มีโอกาสได้รู้จักกับวง “แฮมเมอร์” วงดนตรีเพื่อชีวิตที่กำลังมีชื่อเสียงสมัยนั้น ผมเขียนเพลงให้พวกเขาไป ๑ เพลงในอัลบั้ม “หมามุ่ย” ของพวกเขา ซึ่งก็คือเพลง “ถึกควายทุย” นั่นเอง และ แฮมเมอร์ ยังให้ผมช่วยออกแบบปกชุด “ปักษ์ใต้บ้านเรา” ให้พวกเขาอีกด้วย อัลบั้มนี้สร้างชื่อให้พวกเขามาก

แฮมเมอร์นี่เอง ที่พาผมไปรู้จักกับบริษัทเทป “พีค็อค” สังกัดแรกของ คาราบาว ตอนนั้นแฮมเมอร์กำลังทำงานชุด “หมามุ่ย” อยู่พอดี ..ในที่สุดเขาก็ให้ผมเป็นโปรดิวซ์เซอร์งานชุดนี้ให้แก่เขา

นอกจากเขียนเพลงให้เขาไปเพลงหนึ่งแล้ว จริงๆ ผมช่วยเขาอีกหลายอย่าง เช่น ดูแลผลประโยชน์จากการเซ็นสัญญา ผมเป็นคนเซ็นแทน จนเกือบเป็นเรื่องราวใหญ่โตตามมาในภายหลัง รวมทั้งการพิทักษ์สัญญาที่ค่อนข้างจะเสียเปรียบจาก “พนม นพพร” แต่ในที่สุดพวกเขาก็เซ็นไปจนได้

จากนั้นมาผมจึงคิดจะทำเพลงเองบ้าง ผมบอก เขียว (กิรติ) เป็นคนแรก สำหรับเพลง “ถึกควายทุย” นี้ ผมเขียนขึ้นมาโดยรับอิทธิพลมาจากเพลงของ “ครอสบี้ สติลล์ แนช แอนด์ ยังก์” ( Crosby, Stills, Nash&Young ) เขียนเสร็จแล้วก็ได้ พี่สุเทพ (วงโฮป) และเขียวช่วยขลัดเกลาให้สละสลวย เพราะตอนนั้น ผมเพิ่งเริ่มหัดเขียนเพลง ยังไม่ช่ำชอง

เรื่องราวของ “มะโหนก” เป็นชีวิตที่ผมจินตนาการมันขึ้นมาเอง คาราบาว คือควาย “ถึก” คือผู้ทุกข์ยาก ทำงานรับใช้ คนและสังคมอะไรพวกนี้ ผมเขียนโดยผูกเรื่องขึ้นมาแบบนิยาย เป็นเรื่องยาวประมาณ ๑๐ ตอน ๑๐ เพลง ผมขอเรียนตามความเป็นจริงว่า ผมไม่ได้เตรียมเรื่องราวของมะโหนก หรือของถึกขึ้นมาไว้ก่อนเลย ..มันดำเนินไปตามอารมณ์เท่าที่จะนึกได้ในตอนนั้นล้วนๆ

ถึกควายทุยทั้ง ๑๐ ภาค จึงดำเนินไปอย่างกะท่อนกะแท่น แต่จากการที่ผมกลับมาฟังในรอบหลายปีที่ผ่านๆ มา ผมเชื่อว่ามันก็มีเสน่ห์ของมันอยู่เหมือนกัน อย่างเช่น ถึกควายทุย ภาค ๑ มาจนถึง บัวลอย (ถึกควายทุย ภาค ๕) มะโหนก ( ถึกควายทุย ภาค ๖ ) เป็นต้น



นี่คือ..ตำนานคาราบาว
ตำนาน “ถึกควายทุย” ..ตำนานผู้ทุกข์ยากของสังคมไทย




ถึกควายทุย - คาราบาว