30 ตุลาคม 2551

ส่วนที่ขาดหายไปจากตามรอยควาย (ต่อ)






ต่อมาคาราบาวไปสังกัดอะโซน่า แล้วออกเทปชุด “วณิพก” ชุดนี้เป็นเรื่องเลย เพลงมันดังมาก รายการโลกดนตรี ก็ติดต่อให้คาราบาวมาเล่น นักดนตรีคาราบาวแบกเครื่องดนตรีมาเอง ไม่มีใครมาช่วย กลองชุดก็ยังปุปะเก่าๆ ในใจเราก็คิดว่า- นี่แหละวงเพื่อชีวิตจริงๆ



วันที่คาราบาวเล่นครั้งแรกนั้น มีคนดูเรียกได้ว่ามหาศาล มันเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งบอกให้เรารู้ว่า วงนี้กำลังจะมาแล้ว คนในวงการดนตรีตอนนั้น ทั้ง พี่แก้ว (บุญชาย ศิริโภคทรัพย์) คุณระย้า ใครต่อใครต่างก็ฟันธงว่า วงนี้ดังแน่นอน ต่างกับวงดนตรีอื่นๆ ที่เชิญมาเล่น คนแน่นบ้าง น้อยบ้างสลับกันไป แต่คาราบาวมาครั้งใด-แน่นทุกครั้ง

โลกดนตรี มีกติกาตั้งแต่เริ่มทำรายการว่า ทุกวงที่มาออกอากาศจะได้รับค่ารถ หรือค่าตอบแทนรายละ ๒,๐๐๐ บาท ทุกวงได้เท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นวงอะไร เพราะมันยากลำบากพอสมควรที่จะพิจารณาว่า วงไหนดังต้องให้มากกว่า วงไหนไม่ดังให้น้อยกว่า เลยตัดสินใจให้เท่ากันหมดทุกวง คาราบาวก็ได้สองพันบาทเหมือนกัน

อย่างที่ตอนต้นว่า-คาราบาวเป็นวงที่สปิริตสูงมาก จริงจังกับการเล่น ก่อนเล่นจะมาทดลองเสียง พวกเขามากันตอนกลางคืนก่อนเล่นหนึ่งวัน-เป็นมืออาชีพจริง ๆ ตั้งเสียงเอง แล้วก็ซ้อมจนกว่าจะพอใจ เมื่อทำงานแบบนี้ ทีมงานโลกดนตรีก็มั่นใจ พี่แก้ว (บุญชาย ศิริโภคทรัพย์) เคยบอกว่า-คาราบาวเป็นวงดนตรีที่มีวินัยมาก วงอื่นๆ จะมาเซ็ทเครื่อง ลองซ้อมกันตอนสายๆ ก่อนออกอากาศเวลาเที่ยงครึ่ง ความมีสปิริต และวินัย ..จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยากพูดถึงพวกเขา

ความสนุกของคนผลิตรายการไม่ว่าจะเป็นตอนบันทึกเทป หรือถ่ายทอดสดเพลงของคาราบาว นั่นคือ การ "ตะครุบภาพ" สมัยก่อนการบันทึกเทปหรือถ่ายสด จะใช้กล้อง ๔ ตัว วางด้านซ้าย ด้านขวา แล้วก็ Long Shot ตรงกลาง.. โดยมีกล้องฟรี-แฮนด์เทลไปทั่วบริเวณอีกหนึ่งตัว

ที่เราต้องเรียกว่าตะครุบภาพ เพราะดนตรีที่คาราบาวเล่น มันสอดรับกันทุกชิ้น โดยเฉพาะ เทียรี่ กับ เล็ก ..คู่นี้เวลาเล่นกีต้าร์จะเล่นขี่กัน...กัดกันไปกัดกันมา คือคาราบาวเล่นดนตรีจริงๆ เล่นกันทั้งวง ต่างจากดนตรีของวงอื่น ที่เราจะรู้ล่วงหน้าเลยว่า ท่อนร้อง-ท่อนโซโล่อยู่ตรงไหน กล้องก็ตามไปรอเก็บภาพ มันง่ายมาก แต่สำหรับคาราบาวนั้นไม่ใช่ ดนตรีที่คาราบาวเล่น จะมีลูกตอดไปทางโน้นตอดไปทางนี้ มือกล้องเลยตะครุบภาพของคาราบาวยากมาก เพราะไม่รู้ว่าใครจะเล่นตอนไหน ทุกคนที่ทำงานจึงสนุก-ได้ลับฝีมือของตัวเอง เคยคุยกันเล่นๆ กับพี่แก้วว่า.. ถ้ามันยากนัก ก็ตั้งกล้องมันทีเดียวเจ็ดตัวเฝ้าแต่ละคนของคราบาวไว้เลย แต่มันทำไม่ได้หรอก !!!!!!



พอชุดวณิพก เริ่มดัง-แล้วคนรู้จักกันทั้งประเทศ ปัญหาตามมาในตอนนั้น คือคาราบาวควบคุมเครื่องมือการสื่อสารของตัวเองไม่ได้ คือ ไม่มีช่องทางที่จะสื่อสารผลงานไปสู่แฟนเพลงกลุ่มใหญ่ พอวณิพกดัง..เพลงชุดแรกชุดสองก็กลับมาด้วย ศักยภาพทางการสื่อสารของคาราบาวจึงถูกเติมเต็มโดย-วาสนา ศิลปิกุล (แต๋ว) ที่มีสื่อวิทยุรายการ “แว่วหวาน” อยู่ในมือ ร่วมด้วย..(เซ็นเซอร์) ที่ร่วมวางแผนโปรโมทให้ทางโทรทัศน์ เพลงชุดประวัติศาสตร์อย่าง "เมดอินไทยแลนด์" จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือในระบบธุรกิจที่เป็นขั้นตอน



ถ้าจะให้นับความเป็นคาราบาวจริงๆ น่าจะนับที่ชุดนี้ เพราะก่อนหน้านั้น อาจเป็นเพียงงานทดลองทางดนตรี และงานทดลองทางการตลาด-การขาย น่าเสียดายที่การทำงานร่วมกันของคาราบาวกับแกรมมี่ จบลงเพียงแค่ชุด “เมดอินไทยแลนด์” เพราะปัญหาเรื่องผลประโยชน์

ชุดเมดอินไทยแลนด์โด่งดังมาก คาราบาวออกเดินสายทัวร์ทั่วประเทศ ไปภาคเหนือก็ไปกัน ไปอิสานก็ไปกัน ลงใต้ก็ไป คือเดินสายไปแต่ละครั้งใช้ระยะเวลานาน ทีมงานที่อยู่กรุงเทพ ก็ส่งปกเทปไปให้บริษัท (เซ็นเซอร์) ปั๊มออกขาย ส่งปกไปเท่าไหร่เราก็จะรู้ยอดขาย เรียกว่าการ "ตัดปก"

และจากการที่ออกทัวร์เดินสายไปทั่ว คาราบาวจึงรู้ว่าเทปชุดนี้ เจาะลงไปถึงคนระดับตำบล ยอดขายจะต้องมหาศาลแน่ แต่พอตรวจสอบยอดกับคนจัดจำหน่าย ปรากฏว่ามียอดแค่-ล้านเจ็ดแสน ผิดกับที่คาราบาวประมาณการว่า เมดอินไทยแลนด์ต้องไม่น้อยกว่า ๓ ล้านม้วน

และอีกปัญหาหนึ่งเกิดขึ้นเพราะบริษัท (เซ็นเซอร์) ที่ทำโปรโมท- ไปขึ้นราคาหน้าปกเทปที่ส่งให้บริษัท (เซ็นเซอร์) ผู้ผลิตออกขาย บริษัทนี้ เมื่อถูกขึ้นราคาปกมาก็ไปขึ้นราคากับรายย่อยอีกต่อหนึ่ง กลายเป็นว่าทั้งสองบริษัทได้ส่วนเพิ่มจากราคาขาย-แต่คาราบาวได้เท่าเดิม โดยถูกอ้างว่าเป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก ทั้งๆ ที่คาราบาวน่าจะได้เพิ่มบ้างตามสมควร ก็เลยกลายเป็นชนวนให้ผิดใจกัน

เกร็ดเล็กๆ อีกเรื่องเกี่ยวกับชุดนี้ คือ คาราบาว เป็นวงดนตรีวงแรกในประเทศไทยที่มีโลโก้ของสปอนเซอร์อยู่บนปกเทป แล้วก็มีจิงเกิ้ลสั้นๆ เกี่ยวกับสินค้านั้น เป็นเพลงอยู่ท้ายม้วน

"ในความเห็นส่วนตัว ที่สุดยอดที่สุดคือชุด ๗ ประชาธิปไตย เมดอินไทยแลนด์นั้น จะสุดยอดในส่วนของยอดขาย แต่ถ้าเป็นเรื่องเนื้อหาและดนตรีนั้น ประชาธิปไตยจะเป็นชุดที่เรียกว่าได้ว่า ‘เนี้ยบมาก’ แต่ยอดขายมันไม่ได้ตามที่คิดไว้”


อเมริโกยกับประชาธิปไตยเป็นชุดที่มีกลิ่นการเมืองแรงมาก ทั้งสองชุดอาจจะมีอิทธิพลหลงเหลือมาจาก-เมดอินไทยแลนด์ ก็ตรงที่ตอนทำชุดเมดอินฯ นั้น มีเพลง "เหลือ" ที่ไม่สามารถใส่ในอัลบั้มได้ เช่น ซาอุดร ก็ต้องเอามาใส่ไว้ในอัลบั้มต่อมา



เพลงคาราบาว ชุดที่ ๑-๕ นั้น ทำตามอุดมการณ์ของตัวเอง อันนี้ชัดเจนมากๆ คนฟังก็ตามคาราบาวเพราะเห็นว่าเพลงเขาพูดถึงความใกล้ตัว มันทำให้คาราบาวกับคนฟังได้ใกล้ชิดกัน

ถึงชุดที่ ๖ คาราบาวเริ่มหนีคนฟังไปพูดเรื่องการเมือง การทหาร เนื้อหามันหนักขึ้น แต่คนฟังก็ยังพอตามทัน

พอชุดที่ ๗ ประชาธิปไตย ..คาราบาวยิ่งหนีคนฟังออกไปอีก ด้วยสีสันของดนตรีที่มีอีเล็คโทรนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น คนฟังก็เริ่มลังเล ว่าจะตามไปทันหรือเปล่า เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนคาราบาวเป็นคนขับรถคันหนึ่ง คนฟังก็ขับอีกคันหนึ่ง ขับตามกันมา กินลมชมวิวกันไปเรื่อยๆ พอช่วงหนึ่ง-คาราบาวเหยียบคันเร่งหนี แล้วเลี้ยวโค้งหายไปเลย ไม่คอยคนฟังเลย แม้จะเห็นไฟท้ายอยู่แว่บๆ แต่คนขับตามมาก็ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะหลุดโค้งหรือเปล่า..ก็เลยลังเล ไม่กล้าตาม การติดตามเพลงของคาราบาวจึงอาจจะน้อยลงในช่วงชุดที่ ๖ และ ๗ ดังเปรียบเปรย เป็นเพราะแฟนเพลงยุคแรกๆ ยังติดอยู่กับโฟล์ค เสียงกีต้าร์ เครื่องเคาะธรรมดาๆ ไม่คุ้นกับดนตรีอีเล็คโทรนิกส์ ชุดประชาธิปไตยจึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางดนตรีของคาราบาว แต่เมื่อเห็นว่า-คนฟังชักตามไม่ทันแล้ว..ยอดขายมันไม่ดี

ชุดถัดมา ๘-๙ ..ก็กลับมามีกลิ่นของความเป็นไทยมากขึ้น กลับมาชะลอรถ..รอคนฟังเหมือนเดิม

สำหรับการทำงานของคาราบาว หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่า เพลงใหม่ของคาราบาวจะออกมาในราวเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคมของทุกปี

มันมีสาเหตุที่ตรงที่-คาราบาว "หนีฝนเข้าถ้ำ" คือ เมื่อถึงเวลาออกทัวร์เดินสายก็ไปกัน แต่พอเข้าหน้าฝน..มันออกทัวร์ไม่ได้ ก็พากันเข้าห้องอัดทำเพลง จะมีเพลงที่เคยเตรียมไว้ก่อนบ้าง หรือไปเจอวัตถุดิบใหม่ๆ ระหว่างทัวร์บ้าง ก็จะเข้าห้องบันทึกเสียง-ทำดนตรีกันในช่วงหน้าฝน ใช้เวลาราว ๒ เดือนก็สามารถส่งมาสเตอร์เทปให้บริษัทจัดจำหน่ายได้ และระหว่างนี้-ก็วางแผนโปรโมท ผลงานออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมพอดี หลังจากนั้นก็ออกทัวร์กันใหม่ ..เป็นวัฏจักรของคาราบาว

ทั้งหมดที่บอกข้างต้นคือ..
ส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ตรงของ-อาจารย์มานพ แย้มอุทัย และเมื่อกล่าวถึงวงดนตรีคาราบาวที่เคยเข้าไป "คลุกวงใน" อยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง

"ถ้าจะถามถึงอุดมการณ์...แน่นอนว่า-พวกเขามีอยู่แล้ว การเดินสายออกทัวร์ เปิดการแสดงให้คนทั้งประเทศรับรู้ว่าคาราบาวคิดอะไร และสื่อสารออกมาด้วยเพลงอย่างไร และทำมาตลอด ๒๕ ปี นั่นคืออุดมการณ์ สิ่งที่คาราบาวเปิดการแสดงไปทั่วทุกมุมของเมืองไทย ก็จะได้เก็บเกี่ยวเรื่องราว -เก็บเกี่ยวปัญหา หรือสิ่งที่พบเห็นมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อนำมาบอกเล่าไปให้ประชาชนอีกฝั่งหนึ่ง หรืออีกกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ได้รับรู้ว่ายังมีเพื่อนร่วมชาติอีกส่วนหนึ่งที่ยังมีปัญหา

เมื่อ “แอ๊ด คาราบาว”..เจอสิ่งเหล่านี้ ก็จะบันทึก-เขียนเป็นกลอนบ้าง เขียนเป็นโครงเรื่องไว้บ้าง แล้วเมื่อถึงเวลาก็เอามาตีแผ่ นั่นแหละคืออุดมการณ์"


เพราะถ้าเทียบกับวงดนตรีอื่นๆ...เขาเขียนเพลงกันอย่างไร? แค่นั่งอยู่ในห้องแล้วจินตนาการ หรือเอาเรื่องอกหักรักไม่เป็นของคนอื่นมาเขียนเป็นเพลง มันก็ได้แค่ถ่ายทอดอารมณ์...แต่มันไม่ได้ถ่ายทอดชีวิต และหนักไปกว่านั้นก็คือ- เอาเพลงเก่ามาทำใหม่ หากมองไกลไปถึงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดความฉลาดของคนในชาติแล้วละก้อ.. เมื่อทำเพลงกันแบบนี้...แล้วประเทศชาติจะพัฒนากันได้อย่างไร ?? เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่คิดจะสร้างงานใหม่ขึ้นมา เพราะมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว ก็เลยกลับไปเอาเพลงเก่ามาทำดนตรีใหม่ซะงั้นแหละ

ที่มันน่าเจ็บปวดที่สุดคือ.. เมื่อ..”สุเทพ วงศ์กำแหง” ขึ้นเวที ร้องเพลง “ครวญ” (เมื่ออยู่ริมฝั่งชล.....ฉันยลทุกยามเย็น) เด็กสมัยนั้น-ดันบอกว่า “เอาเพลงของ-แซม ซิกเซ้นต์-มาร้องทำไม ??” แม้แต่สมัยใหม่นี้ - “พอเริ่มไปไม่เป็น”-ขายเทปไม่ได้ ก็กลับมาเอาเพลงเก่าขึ้นมาหากินกันอีก (เซ็นเซอร์) ก็เคยออกอัลบั้ม (เซ็นเซอร์) ที่หลายๆ คนเอาเพลงสุนทราภรณ์มาร้องกัน คีรีบูน ฟรุ้ตตี้ บรั่นดี ก็เป็นไปแล้วทั้งนั้น ที่เล่าให้ฟังก็อยู่ในฐานะที่เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิจารณ์ จึงเห็นว่ามันไม่ค่อยถูกสักเท่าไหร่

พอหันมาดูคาราบาว จะเห็นว่า-วงนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มันแตกต่างจากวงอื่น..ต่างจากคนอื่น ประกอบกับต้องยอมรับด้วยว่า นอกเหนือจากความแหลมคมในการถ่ายทอดเนื้อหาที่คาราบาวไปประสบมาแล้ว แอ๊ด คาราบาว..ยังเป็นนักการตลาดตัวยงอีกด้วย แต่เพลงของคาราบาวก็ยังยืนอยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์เหมือนเดิม



ถึงวันนี้ ..๒๕ ปีผ่านมาแล้ว..คาราบาวก็ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตัวเองยืนอยู่บนถนนดนตรีอยู่เรื่อยๆ มันฝืนไม่ได้ เพราะมันมีการแข่งขันกันหมดในทุกวงการ เพลงก็มีค่ายเพลง..ค่ายเพลงก็ทำโฆษณามีมิวสิควิดีโอเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมาซื้อ

ทุกอย่างเป็นธุรกิจและเป็นการแข่งขันที่มีเดิมพันสูงมากๆ เพราะฉะนั้น-ถ้าคาราบาวจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้มีโอกาสได้ทำเพลงออกมาอย่างสม่ำเสมอ ตามวิถีทางของคนที่มีอาชีพเป็นนักดนตรี ก็เป็นเรื่องที่น่าจะยอมรับกันได้

เพลงชุด“หนุ่มบาว-สาวปาน” ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งของวงการเพลงไทย ไม่ผิดหรอกที่คาราบาวจะทำแบบนี้ กับ “ปาน (ธนพร)”

ในเมื่อ “เบิร์ด” ยังมีอัลบั้ม..กับเสก..กับจินตหรา มันเป็นอาชีพของคนในวงการเพลงที่บางครั้งต้องการทำสิ่งใหม่ๆ บ้าง

เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงนะ ทุกวงการมันต้องเปลี่ยน-ให้ทันสังคม คาราบาวก็ไม่ยกเว้น การเปลี่ยนแปลง..มันต้องมีคนที่ไม่ยอมรับเสมอ..อันนี้ต้องทำใจ

ส่วนเรื่องอุดมการณ์ที่พูดกันมากนั้น ในระยะหลัง “คาราบาว” ก็ยังมีอยู่...หากฟังจากเพลงของคาราบาวให้ดีดี ก็ไม่ได้ทิ้งเนื้อหาเดิมๆ ที่เคยสร้างความยิ่งใหญ่ให้คาราบาว

ทั้งหมดนั้นคือ..
บทสรุปของประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่กับคาราบาว
แม้วันนี้..“มานพ แย้มอุทัย” จะถอยห่างออกมาอยู่วงนอก
แต่ “คาราบาว” ก็ยังเป็นความทรงจำที่ดีของผู้ชายผมสีดอกเลาคนนี้

และปิดท้ายด้วยความเห็นเกี่ยวกับดุษฎีนิพนธ์ของ “วรัตต์”
จากคนชื่อ “มานพ” ..ระบุว่า


“มันเป็นการรวบรวมงานครั้งใหญ่ครั้งแรกของคาราบาวเท่าที่เคยได้สัมผัสมา บางเรื่องที่อ่านเจอ-ก็เป็นเรื่องที่ลืมไปแล้ว จึงขอบคุณที่มีคนคิดทำงานนี้ / มานพ แย้มอุทัย

ส่วนที่ขาดหายไปจากตามรอยควาย



ภาคที่ 4 ของส่วนที่ขาดหายไปจากตามรอยควาย
(หนังสือเล่มหนาที่นำข้อมูลมาจากดุษฎีนิพนธ์ ของ-วรัตต์ อินทสระ)

อาจารย์มานพ แย้มอุทัย
อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คนที่)เคยเป็นนักข่าว คอลัมนิสต์ ครีเอทีฟ เป็นผู้ทำงานเบื้องหลังในวงการสื่อสารมวลชนมาโดยตลอด เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ กิรติ พรหมาสาขา ณ สกลนคร ในสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ และเมื่ออาจารย์มานพได้เจอเพื่อนคนนี้อีกครั้ง ความเป็นนักประชาสัมพันธ์และคนโฆษณาถูกนำมาใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับคาราบาว มีช่วงชีวิตที่เข้าไปสัมผัส
กับคาราบาว แม้วันนี้จะถอยห่างออกมาเป็นผู้ดูอยู่วงนอก แต่ความทรงจำที่ดีกับคาราบาวยังไม่เคยเลือน


ผมเป็นเพื่อนกับ เขียว (กิรติ พรหมสาขาฯ) ตั้งแต่เรียนอยู่สวนกุหลาบ เขาอยู่รุ่น ๘๓ มัวคอยรุ่นของผม (๘๔) อยู่ ก็เลยได้เรียนจบพร้อมกัน พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ต่างแยกย้ายกันไป เขียวไปเจอแอ๊ดที่ฟิลิปปินส์ ผมเรียนที่จุฬา ฯ เรียนจบก็มีโอกาสช่วยทำรายการของ บริษัท ๗๒ โปรโมชั่น ในรายการ “เพลงนานาชาติ” กับ “โลกดนตรี” และยังได้ทำรายการ "มันกว่าแห้ว" ทางช่อง ๕ กับ "เสียงติดดาว" ช่อง ๗ โดยสองรายการหลังนี้ เป็นของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง ยุคที่ “กู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เป็นเอ็มดี. และเปลี่ยนมาเป็นแกรมมี่ในเวลาต่อมา



แล้ววันหนึ่ง..ทางโปรดิวเซอร์-ส่งคิววงดนตรีที่จะมาออกรายการให้เราบันทึกเทป ผมนั่งอยู่บนห้องไดเรคเตอร์ชั้นบนของสตูดิโอ..แล้วมองผ่านกระจกลงมาข้างล่าง เห็นนักดนตรี..ก็สงสัยว่า-นี่มันเพื่อนเรานี่หว่า (หมายถึงเขียว คาราบาว)จึงลงมาทักทายกันตามประสาเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน

การบันทึกเทปในยุคนั้น ยังไม่เรียกมิวสิควิดีโอ น่าจะเรียกว่าเป็นเพลงประกอบภาพมากกว่า เราได้ถ่ายเพลง “กัญชา” ที่สตูดิโอของวีพีซี.อยู่ซอยทองหล่อ ซึ่งเพลงของคาราบาวมันมีความดิบ ก็เลยคิดเอาหัวกะโหลกมาเล่น โดยใช้เทคนิคโครม่าคีย์ (เหมือนเทคนิคตัดสีฉากหลังแบบ blue-screen ของภาพยนตร์) แล้วนำมาซ้อนภาพ แอ๊ด ยืนร้องเพลงอยู่ข้างหน้าหัวกะโหลกขนาดใหญ่ ที่มีหยดเลือด (ใช้สีโปสเตอร์) ค่อยๆ หยดลงมาบนกระโหลก แอ๊ดก็เห็นว่าเข้าท่าดี เลยรู้จักมักคุ้นกันมาตั้งแต่ตอนนั้น ต่อมาในตอนหลัง ค้นหาข้อมูลทำข่าวก็พบว่า- แอ๊ดเคยประกวดร้องเพลงของช่อง ๓ เพื่อจะเป็นตัวแทนประเทศไทย ในปีเดียวกับที่ นันทิดา แก้วบัวสาย ได้ตำแหน่งชนะเลิศ ก่อนจะไปได้แชมป์เอเซีย วัน audition เพลงรอบแรก แอ๊ดใส่เสื้อเชิ้ตขาวพับแขน-กางเกงยีนส์ไปประกวด เพราะยังทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่การเคหะแห่งชาติ แล้วใช้เวลาว่าง..เล่นดนตรี
ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้


สำหรับชื่อ “คาราบาว” นั้น ตอนแรกก็มีคนเข้าใจผิดคิดว่าเลียนแบบ “คาราวาน” แต่พูดกันแบบแฟร์ๆ คือต่างคนต่างก็ไม่รู้จักกันเลย ช่วงนั้นเพลงเพื่อชีวิตมันเบาลงไปแล้ว เพราะสถานการณ์การเมืองมันเข้าที่ รู้สึกว่าจะมีแค่วง “แฮมเมอร์” ที่ยังได้รับความนิยมอยู่ในหมู่คนฟัง ด้วยเพลง “บินหลา / ปักษ์ใต้บ้านเรา” ส่วน “คาราวาน” ก็ออกจากป่า มาเล่น Concert for Unicef บันทึกเทปให้ EMI ออกขาย “คาราบาว” เองก็ทำงานของเขา โดยออกมาสองชุดแรกก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ตอนเจอคาราบาวครั้งแรกนั้น-เขาขายเพลงให้กับ บริษัทพีค็อก แล้วพีค็อก ก็มาซื้อคิวเพลงเพื่อออกรายการในเครือพรีเมียร์ฯ ดังที่เล่าให้ฟังตอนต้น



ก่อนหน้ายุคนั้น..วัยรุ่นไทยฟังแต่เพลงสากลล้วนๆ ไม่สนใจเพลงไทยเลย โดยเพลงไทยก็มีแต่เพลงแนว สุนทราภรณ์ และ แนว สุเทพ-ชรินทร์-ธานินทร์-สวลี เป็นต้น พอมาถึงช่วงหลังปี ๒๕๒๐ เพลงไทยก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จนถึงช่วงที่ “คาราบาว” เริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงนั้น ก็เป็นช่วงที่ มีวงดนตรี-นักร้องโด่งดังก็ได้แก่ แกรนด์เอ็กซ์ ชาตรี รอยัลสไปร้ทส์ แมคอินทอช สาว สาว สาว ฟรีเบิร์ด สุชาติ ชวางกูร ฯลฯ ซึ่งคาราบาวตามมาโด่งดังในช่วงเดียวกับศิลปินเหล่านี้

ให้สังเกตว่านักร้องส่วนใหญ่ในยุคนั้นร้องเพลงป็อป ทางนิตยสาร “โดเรมี” ที่เป็นบรรรณาธิการอยู่ ก็จัดให้มีการโหวตศิลปินยอดนิยมของผู้อ่านตลอดครึ่งปีหลังของ พ.ศ.๒๕๒๖ โดย แกรนด์เอ็กซ์ กับ ชาตรี มีคะแนนตีคู่กันมา พอถึงวันประกาศผล ที่มีการถ่ายทอดสดผ่านรายการ “โลกดนตรี” วงคาราบาวก็มาร่วมงานด้วย โดยไม่เกี่ยงงอนว่า - ภาพรวมส่วนใหญ่ของงานเป็นแนวป๊อบมากกว่าเพื่อชีวิต

“ทำให้ผมชื่นชมว่า วงนี้มีสปิริตดีมาก ทึ่งในสปิริตของพวกเขา ทั้งๆ ที่รู้ว่า - ผลโหวต จะไม่ใช่คาราบาวแน่ๆ"




“วรัตต์ อินทสระ” แฟนพันธุ์แท้ ที่ทำดุษฎีนิพนธ์ (ระดับปริญญาเอก)ด้วยเรื่อง “คาราบาว” แล้วเขาก็ถอดเทปนำมาโพสต์ไว้ที่
http://www.carabao2524.com/board/show.php?ques_no=2096

ด้วยหัวเรื่องว่า... เพลงของคนอื่นถ่ายทอดอารมณ์
แต่คาราบาวถ่ายทอดชีวิต : มานพ แย้มอุทัย


“วรัตต์ อินทสระ” เกริ่นนำ-
ก่อนเดินเรื่องบทสัมภาษณ์ว่า..

บทความนี้...ผู้เขียนขอสละลิขสิทธิ์ทุกตัวอักษร เพื่อให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความที่มีส่วนผสมทางวิชาการนี้ ก่อประโยชน์ต่อสาธารณชนและแฟนเพลงคาราบาว เนื้อหาที่เรียบเรียงไว้ มีการอ้างถึงที่มาเอกสารประกอบการเรียบเรียง หรือบุคคลอื่น ๆ ที่ให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในตอนท้ายของบทความนี้

ข้อมูลบางส่วน อาจได้มาโดยไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงขออนุญาตเจ้าของวรรณกรรมทุกท่าน หากข้อความหรือประโยคใดๆ มีส่วนเหมือน คล้ายคลึง หรือถูกคัดลอกมาทั้งโดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจ

แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอใช้สิทธิ์โต้แย้งบางประการ ตามสามัญสำนึกของวิญญูชน หากมีการอ้างสิทธิ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงดนตรีคาราบาว
เพราะเรื่องราวของคาราบาว
ควรเป็นของคาราบาว...มิใช่ของเรา